สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการตรวจสุขภาพและมอบกระเป๋ายาสามัญประจำบ้านพระราชทาน จำนวน 300 ชุด แก่ประชาชนเขตดอนเมือง เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โปรดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยรองศาสตราจารย์ นายแพทย์องค์การ เรืองรัตนอัมพร รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหน่วยแพทย์พระราชทานโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ให้บริการตรวจสุขภาพและมอบกระเป๋ายาสามัญประจำบ้านพระราชทาน จำนวน 300 ชุด แก่ประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ให้การต้อนรับและกล่าวสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีความห่วงใยต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง ณ วัดเวฬุวนาราม เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เขตดอนเมือง มีพื้นที่ 36.8 ตารางกิโลเมตร มีชุมชนจำนวน 96 ชุมชน มีประชากรทั้งหมด 163,204 คน ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข มีโรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 1 แห่ง มีศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 1 แห่ง โดยเขตดอนเมืองเป็นเขตที่มีขนาดใหญ่ มีกลุ่มเปราะบาง จำนวน 86 คน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์ มาให้บริการตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยมีผู้เข้ารับบริการ รวม 341 ราย การนี้ รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตดอนเมือง และหัวหน้าส่วนราชการฯ ได้เยี่ยมชมการให้บริการหน่วยแพทย์พระราชทานฯ พร้อมทั้ง มอบสิ่งของแก่ประชาชนในพื้นที่ จากนั้น ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง จำนวน 3 ราย ดังนี้
1.นายนิวัฒน์ เกตุแก้ว อายุ 70 ปี ชุมชนร่มไทรงาม อยู่บ้านเลขที่ 189/1 ซอยโกสุมรวมใจ 14 เขตดอนเมือง เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง โรคปอด และโรคหอบหืด พักอาศัยอยู่กับภรรยา มีรายได้มาจากภรรยาที่ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นแม่บ้านบริษัทเอกชน ในวันที่ภรรยาต้องออกไปทำงานจะนำนายนิวัฒน์ ไปฝากไว้กับเพื่อนบ้านเพื่อให้คอยช่วยดูแล และบ้านที่อยู่อาศัยปลูกอยู่ในที่ดินของรัฐริมคลองเปรมประชากร
2.นางจรินทร์ มังคล้าย อายุ 88 ปี ชาวชุมชนร่มไทรงาม บ้านเลขที่ 18 ซอยโกสุมรวมใจ 8 เขตดอนเมือง กรุงเทพ เป็นผู้พิการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องให้อาหารทางสายยาง มีโรคประจำตัวโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองตีบ พักอาศัยอยู่กับลูกชาย รายได้ของครอบครัวมาจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการและลูกที่ทำขนมขายแต่มีรายได้เล็กน้อย
3. นายสุรชัย จันทร์ศรี อายุ ๕๘ ปี ชุมชนประชากร 4 บ้านเลขที่ 116 ถนนเชิดวุฒากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง อาศัยอยู่กับพี่สาวที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป
นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ต่อประชาชนในพื้นที่เขตดอนเมือง
จากพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยโรคมะเร็ง และยกระดับการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากลทัดเทียมนานาประเทศ ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขึ้น โดยเสด็จเปิดโรงพยาบาลจุฬาภรณ์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ต่อมาด้วยพระกรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยสุขภาพของประชาชนชาวไทย กอรปกับพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่จะนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน
จึงทรงมีพระดำริให้พัฒนาต่อยอด “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” จากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ให้เป็น “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” สถาบันการศึกษาวิจัยที่สร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรในด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาคโดยมีโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการตรวจรักษาพยาบาลแก่ประชาชน
ปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 โดยพัฒนาสู่การบริการทางการแพทย์ระดับตติยภูมิขั้นสูง ตรวจรักษาผู้ป่วยจากทั่วทุกภูมิภาคครอบคลุมทุกโรค ด้วยศูนย์การรักษาเฉพาะทางด้านต่างๆ ได้แก่ มะเร็งวิทยา ไซโคลตรอนและเพทสแกน หัวใจและหลอดเลือด ภาพวินิจฉัยและรังสีร่วมรักษา ภัยพิบัติและฉุกเฉิน ทางเดินอาหารและตับ กระดูกและข้อ สุขภาพสตรี เต้านม ระบบทางเดินปัสสาวะ จักษุวิทยา อายุรกรรม ศัลยกรรม กุมารเวชกรรม ผิวหนังและเลเซอร์ เป็นต้น พร้อมทั้งให้บริการด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลากหลายสาขาที่มีประสบการณ์
ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยระดับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก้าวสู่การเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ทางฝั่งตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 4 อาคาร ได้แก่ อาคารศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 6 เขตหลักสี่อาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ และอาคารศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง ตั้งอยู่บนถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2566 นี้
โดยสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานนามให้ศูนย์การแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์” อันมีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานแนวพระราชดำริของพระราชบิดาในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ตลอดระยะเวลา 13 ปี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งมั่นสร้างสรรค์สุขภาพที่ดีเพื่อสังคมไทยภายใต้หลักการทำงาน “ทุกชีวิตของคนไข้คือหัวใจของเรา” สืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธานในศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานผู้ก่อตั้ง “โรงพยาบาลจุฬาภรณ์” เพื่อเป็นที่พึ่งพิงทางสุขภาพให้กับชนชั้นกลางจนถึงผู้ยากไร้ให้ได้รับการรักษาอย่างดีเยี่ยม โดยมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยในทุกถิ่นฐานมีสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต