สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 31 ต.ค. 65
+ ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี (66 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (64 มม.) และ จ.พัทลุง (64 มม.)
+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
+ สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 31 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,032 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 1,878 ลบ.ม./วินาที
+สถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี 31 ต.ค. 65 สถานีวัดน้ำท่า M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 4,020 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับในลำน้ำมีแนวโน้มลดลง คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย. 65
+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,396 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,186 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด
+กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เร่งลดพื้นที่น้ำท่วมให้กลับสู่ภาวะปกติ
วานนี้ (30 ต.ค. 65) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตก ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร เพื่อติดตามเร่งรัดแผนการระบายน้ำ รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรค จุดที่เป็นช่องโหว่ต่างๆ
เพื่อให้การระบายน้ำที่ยังท่วมขังในหลายพื้นที่ระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ตั้งแต่บริเวณประตูระบายน้ำคลองสระ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ซี่งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับกรมชลประทาน และตามแนวคลองพระยาบรรลือ ประตูระบายน้ำปากคลองขุดใหม่ ประตูระบายน้ำลากฆ้อน และประตูระบายน้ำปากคลองขุนศรี อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องสูบน้ำ บริเวณประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี พร้อมเดินทางไปตรวจสอบการทำงานเครื่องผลักดันน้ำ ของกองทัพเรือ บริเวณสะพานพุทธมณฑลสาคร อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมประสานขอให้กองทัพเรือเพิ่มจุดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมทั้งได้เร่งการระบายน้ำ ออกจากทุ่งฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในห้วงเวลา ที่ระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด และระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าระดับน้ำในทุ่ง
ขณะเดียวกัน ได้มีการรับน้ำเข้าทางฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้นเพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำฝั่งตะวันตก เช่น ปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ สู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และรับน้ำเข้าสู่ คลองระพีพัฒน์เพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้เร็วมากขึ้นด้วย
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะนี้ที่ยังต้องเฝ้าจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอาจจะส่งผลให้บางพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำได้รับผลกระทบบ้างโดยเฉพาะจุดฟันหลอและพื้นที่นอกคันซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการป้องกันและลดกระทบแล้ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร เพื่อติดตามเร่งรัดแผนการระบายน้ำ รวมถึงแก้ไขปัญหาอุปสรรค จุดที่เป็นช่องโหว่ต่างๆ เพื่อให้การระบายน้ำที่ยังท่วมขังในหลายพื้นที่ระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาและออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิลดลงเล็กน้อย โดยภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีลมแรง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมี ฝนฟ้าคะนองในระยะนี้
อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง “นัลแก” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนในระยะต่อไป โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,396 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,186 ล้าน ลบ.ม. (84%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,045 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,165 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำ 20,736 ล้าน ลบ.ม. (83%) โดยเขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก
4. สถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 24 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคกลาง 9 จังหวัด ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี หนองบัวลําภู และชัยภูมิ ภาคใต้ 1 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์