นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ว่า ตั้งแต่ปี 2542 มีสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้นทะเบียนหนี้ไว้ 468,558 ราย วงเงินเป็นหนี้ 58,823 ล้านบาท แต่ตลอดระยะนับ 19 ปี กองทุนฯ สามารถจัดการหนี้ได้เพียง 29,000 กว่าราย มูลหนี้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ต่อมารัฐบาลมอบหมายให้ กระทรวงเกษตรฯ โดยคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจ เข้าไปทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ย ระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้จนสามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่เกษตรกรที่มี คุณสมบัติ ตามหลักเกณฑ์ โดยซื้อหนี้มาเป็นของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 1,518 ราย วงเงินเป็นหนี้รวม 642 ล้านบาท จากนั้นเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ร้องขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจรจากับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ในการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจาสำเร็จ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 จำนวน 36,605 ราย คิดเป็นยอดหนี้เงินต้น 6,382 ล้านบาท และดอกเบี้ย 3,829 ล้านบาท โดยเงินต้นครึ่งหนึ่งให้เกษตรกรผ่อนจ่ายตามกรอบเวลาไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยที่อัตรา MRR-3 และเมื่อเกษตรกรผ่อนจนหมดแล้ว ธกส.จะพิจารณายกดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ ส่วนเงินต้นที่เหลืออยู่อีกครึ่งก็ให้เกษตรกรมา ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
“เมื่อพิจารณาผลงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งเป็นหนี้สิน ตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนฯ ตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2543 มานั้น จึงถือได้ว่าเป็นรัฐบาลแรกที่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สิน เกษตรกรสมาชิกกองทุนฯ ได้อย่างเป็นระบบโดยไม่เสียวินัยการเงินการคลังของประเทศ นอกจากนั้่น ยังปรับแก้ไข สาระสำคัญของร่างกฎหมายกองทุนฟื้นฟู ฯ คือ กำหนดให้การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และบุคคลค้ำประกัน ได้กำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรกรณีบุคคลค้ำประกันให้ชัดเจน โดยให้กองทุน ชำระหนี้แทนได้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุม เกษตรกรที่มีปัญหามากยิ่งขึ้นอีกด้วย” นายกฤษฎา กล่าว.