พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงสาธารณสุข น้อมนำมาถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดปรินายกวรวิหาร ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมมอบตู้ยา เวชภัณฑ์ และทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนอนุบาลวัดปรินายก และวงดุริยางค์ของโรงเรียน
วันที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่วัดปรินายกวรวิหาร ถนนราชดำเนินนอก แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พุทธศาสนิกชน ร่วมพิธี
นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ผ้าพระกฐินให้กระทรวงสาธารณสุข น้อมนำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดปรินายกวรวิหาร ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของพุทธศาสนิกชนในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และบำรุงพระอาราม โดยผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมทำบุญสมทบถวายผ้าพระกฐินพระราชทานเป็นเงินทั้งสิ้น 1,156,101.30 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นหกพันหนึ่งร้อยเอ็ดบาทสามสิบสตางค์)
สำหรับเครื่องพระกฐินพระราชทานประจำปีพุทธศักราช 2565 ประกอบด้วย 1.เครื่องสักการะบูชา ได้แก่ ผ้าห่มพระประธาน 1 ผืน เทียนพระปาติโมกข์ 1 ชุด 2.องค์พระกฐิน ได้แก่ ไตรจีวร 1 ชุด และผ้าขาว 1 ผืน 3.บริวารพระกฐิน ได้แก่บาตร หมอนหนุน ผ้าห่มขนหนู ผ้าแพรเหลือง ชุดโถข้าว ช้อน-ส้อม ปิ่นโต ชุดแก้วน้ำกระบะมุก กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า โคมไฟตั้งโต๊ะ ไฟฉาย นาฬิกาปลุก ชุดเครื่องมือช่าง และกล่องบรรจุเครื่องพระกฐินพระราชทาน 1 กล่อง ในการนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ถวายตาลปัตรและย่ามที่ระลึกจำนวน 1 ชุด
ทั้งนี้ วัดปรินายกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ในแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ภายในวัดมีปูชนียวัตถุและถาวรวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ภายในมีพระสุรภีพุทธพิมพ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ฝีมือช่างสุโขทัย ประดิษฐานเป็นพระประธาน นอกจากนี้ ยังมีศาลาการเปรียญ ซึ่งเดิมเป็นตำหนักของพระราชวงศ์สมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะเป็นเรือนไม้ทรงไทย ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อปี พ.ศ.2492