“นพ.ประเวศ” ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวาระครบรอบ 15 ปี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ยืนยัน “สังคมสุขภาวะ” เกิดขึ้นได้ต้องรวมพลังภาคีทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหัวใจหลักในสร้างชาติ-สร้างโลก-สร้างศานติสุข คืนความสมดุลให้คนอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ย้ำ “นวัตกรรมทางสังคม” เป็นเครื่องมือแห่งอนาคต ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตองค์รวมได้สำคัญกว่าเทคโนโลยี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “15 ปี พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ภายในงาน “15 ปี สุขภาพแห่งชาติ พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 โดยระบุว่า การสร้างสังคมสุขภาวะจะต้องมีพลังของ “ภาคี” ที่เป็นการรวมตัวร่วมคิดร่วมทำของทุกภาคส่วนในสังคม เข้ามาทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ ภาคีถือเป็น “นวัตกรรมทางสังคม” ที่เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนสังคมให้เกิดความสมดุล ซึ่งช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนก็ได้สร้างนวัตกรรมทางสังคมขึ้นมาผ่าน สช. ที่เป็นอีกเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
“นวัตกรรมสังคมจะมีความสำคัญในอนาคต เพราะเป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้คน ธรรมชาติ และสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาวะของประชาชนแบบองค์รวม เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญมากกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยี” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สช. ได้จัดงาน “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นประจำทุกปี โดยสมัชชาสุขภาพฯ เป็นกระบวนการที่นำพาให้คนทุกภาคส่วนมาสังเคราะห์นโยบาย และมีฉันทมติร่วมกัน อันเป็นการริเริ่มการสร้างนโยบายจากประชาชน และคิดว่าประเทศไทยเป็นที่แรกในโลกที่ทำเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงความหมายของคำว่า “ภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” จะพบว่ามีความหมายที่ยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งสูงสุดของมนุษยชาติที่หมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และมีความเป็นธรรมอย่างถูกต้อง ซึ่งคำว่าภาคีสังคมสุขภาวะนี้เอง จะเป็นกุญแจสร้างประเทศ และสร้างโลก เพื่อให้ทุกพื้นที่เรียกได้ว่าเป็น “แผ่นดินศานติสุข” คือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมในทุกมิติ
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ความจริงแล้วปัญหาใหญ่ของทั่วทั้งโลกในปัจจุบันนี้ พบว่ามีความขัดแย้ง ขาดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมดุล เกิดความเหลื่อมล้ำในประเทศต่างๆ แม้แต่ในประเทศมหาอำนาจของโลก ซึ่งการขาดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมในทุกมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม การเมือง และมนุษย์
“ประเด็นคือ หลายประเทศมีแนวทางพัฒนาประเทศด้วยความมั่งคั่ง ไม่ได้เอาความสมดุลของการอยู่ร่วมกันมาเป็นที่ตั้ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะเกิดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนแค่ 1% ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เกิดการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง เสี่ยงต่อการเกิดสงครามกลางเมือง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า อีกหนึ่งกับดักที่ทำให้ประเทศไทยทำอะไรไม่สำเร็จ อาจจะมาจากวิธีคิด เนื่องจากปัจจุบันเราขาดการคิดเชิงระบบและโครงสร้าง ซึ่งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศควรสร้างพลังปัญญาที่สำคัญให้กับนักศึกษา เพราะที่ผ่านมาเราเน้นด้านเทคนิค แต่ขาดการคิดเชิงระบบและการจัดการ ที่จะเป็นหัวใจของการวางระบบในการแก้ไขปัญหาของสังคม โดยเฉพาะมิติทางสุขภาวะ ที่จะรู้ถึงโครงสร้างของปัญหา เครื่องมือ และวัตถุประสงค์ของสิ่งที่จะพัฒนาเพื่อองค์รวม
ศ.นพ.ประเวศ ยังกล่าวด้วยว่า การมาร่วมกันสร้างองค์รวมของระบบสุขภาพ จะเกิดคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ จึงอยากฝาก สช. และฝากสังคมให้มาร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายสร้างสังคมสุขภาวะ ที่จะช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพใจ สุขภาพสังคม และสุขภาพทางปัญญา ของพวกเราทุกคนดียิ่งขึ้น อันจะทำให้องค์รวมของสุขภาพดีตามไปด้วย และทำให้แผ่นดินไทยกลายเป็นแผ่นดินศานติสุข
“ที่ผ่านมาเราลงทุนสร้างระบบเพื่อนำไปสู่สังคมสุขภาวะกันมามากแล้ว ถึงเวลาที่พวกเราควรเข้ามาเก็บเกี่ยว ต่อยอด ด้วยการมาเป็นภาคีร่วมสร้างสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้นได้จริง และมีความยั่งยืน” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว