รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงในหลายพื้นที่ หน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูลจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้กรมชลประทานได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยดำเนินการ วางแผนสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และนำเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ เข้าไปช่วยฟื้นฟูพื้นที่ถูกน้ำท่วมให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้กลับเข้าที่พักอาศัยและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ในเบื้องต้นกรมชลประทาน ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปมอบถุงยังชีพและน้ำดื่ม ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยใน อำเภอเดชอุดม อำเภอดอนมดแดง อำเภอสว่างวีระวงศ์ และ เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี พร้อมทั้งนำรถบรรทุกน้ำฉีดพ้นล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลงแล้ว

2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 29 ต.ค. – 1 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะเริ่มลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป ส่วนในช่วงวันที่ 2 – 3 พ.ย. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนอีกระลอกหนึ่งจะแผ่เสริมลงมาส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิจะลดลงอีก 2 – 4 องศาเซลเซียสกับมีลมแรงสำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนไปพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง

3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากสถานการณ์มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้และอ่าวไทยและความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกําลังปานกลางจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง รวมถึงมีการระบายน้ำจากเขื่อนลงแม่น้ำสายหลัก และ ลําน้ำสาขา ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 28 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานีและนครสวรรค์ ภาคกลาง 10 จังหวัด สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีนครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรีและสระบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา และสุรินทร์ ภาคตะวันออก 2 จังหวัด นครนายก ปราจีนบุรีและสุรินทร์ ภาคตะวันออก 2 จังหวัด นครนายก และปราจีนบุรี ภาคใต้ 3 จังหวัด สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และตรัง