สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ต.ค. 65

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (99 มม.) จ.นราธิวาส (91 มม.) และ จ.เชียงราย (62 มม.)

แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 29 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,198 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 2,037 ลบ.ม./วินาที ด้านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,824 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง

เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 29 ต.ค.- 9 พ.ย. 65 เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางในบางช่วง รวมทั้งมีการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ประมาณ 1.70-2.20 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 65 เป็นต้นไป โดยในช่วงเริ่มต้นของฤดูหนาวปีนี้ บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกในบางช่วง ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป

ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,457 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,240 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ณ คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนช่วงเวลาในการระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง เพื่อลดผลกระทบไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง และให้สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว

กอนช. เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง จากกรมอุทก-ศาสตร์ กองทัพเรือ พบว่า ช่วงวันที่ 29-31 ต.ค. 65 จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของเดือน โดยสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงจะยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันที่ 9 พ.ย. 65 ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสานกรุงเทพมหานคร ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ที่อาจส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายกตัวขึ้นสูงได้ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจได้รับผลกระทบในช่วงน้ำหนุนในบางช่วงเวลาได้ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเลอย่างใกล้ชิด

สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง มี 16 ชุมชน ในพื้นที่ 7 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตบางกอกน้อย และเขตคลองสาน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือในการตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม และเสริมกระสอบทรายจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำให้พร้อมใช้งาน