นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการประกาศปิดอ่าวมาหยาในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนบกและใต้ทะเลในช่วงฤดูมรสุม เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561เนื่องจากทรัพยากรแนวปะการังบริเวณอ่าวมาหยา ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ กิจกรรมการดำน้ำตื้น การทิ้งสมอเรือ การเข้า-ออกของเรือสปีดโบ้ทและเรือหางยาวเพื่อรับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งในแต่ละวันมีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 3 -4 พันคน ซึ่งสังเกตได้จากซากปะการังที่แตกหักบริเวณพื้น และแนวปะการังบริเวณใกล้ชายหาด ซึ่งมีเรือเข้าออกตลอดเวลาไม่มีปะการังที่มีชีวิตเหลืออยู่ ในช่วงการปิดอ่าวมาหยาระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561นั้น จะห้ามทำกิจกรรมการท่องเที่ยวบริเวณอ่าวมาหยาโดยเด็ดขาด แต่อนุญาตให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณแนวทุ่นไข่ปลาที่กั้นแนวเขตห้ามเข้าไว้ หลังจากมีการก่อสร้างสะพานเทียบเรือและทางเดินบริเวณอ่าวโล๊ะสะมะเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการปิดไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกบริเวณอ่าวมาหยาอย่างถาวร โดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอ่าวมาหยาผ่านทางอ่าวโล๊ะสามะเท่านั้น ซึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้นำทีมวิศวกรและสถาปนิกลงพื้นที่เพื่อออกแบบสะพานและทางเดินให้เหมาะสมและกลมกลืนกับสภาพพื้นที่ และให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติน้อยที่สุด ในระหว่างนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะดำเนินการจัดทำแปลงอนุบาลปะการัง โดยพิจารณาใช้วิธีการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น การขยายพันธุ์ปะการังด้วยวิธี coral propagationซึ่งเป็นวิธีการที่ง่ายและกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ โดยการนำเศษปะการังที่แตกหักมาใช้ในการขยายพันธุ์ และการทำ coral tree เพื่อเตรียมกิ่งพันธุ์สำหรับใช้ในการปลูกขยายพันธุ์ปะการัง ภายหลังจากที่มีการปิดไม่ให้เรือวิ่งเข้าออกบริเวณอ่าวมาหยาเป็นการถาวรแล้ว จะเชิญผู้ประกอบการ ภาคเอกชน หน่วยงานราชการ และจิตอาสามาร่วมดำเนินการปลูกปะการังเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ทะเลเพื่อสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรโดยใช้กลไกประชารัฐ ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลทรัพยากรแนวปะการังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
ส่วนทรัพยากรบนบก จะดำเนินการแก้ไขปัญหาการพังทลายของเนินทรายหน้าชายหาด โดยการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายหาด โดยคัดเลือกชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น รักทะเล เตยทะเล สวาด คันทรง เป็นต้น เพื่อช่วยยึดหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของเนินทรายหน้าชายหาดมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมพืชบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจัดทำเส้นทางเดินยกระดับ (boardwalk) ตั้งแต่แนวสังคมพืชชายหาด ไปยังด้านในอ่าวและบริเวณห้องน้ำ เพื่อลดการเหยียบย่ำของนักท่องเที่ยว (ซึ่งจะต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงรูปแบบและวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติ)