กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เร่งรัด สร้างภูมิปฐมวัย ปกป้องภัยโควิด 19

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้ช่วยป้องกันการเสียชีวิตในประเทศไทยได้ประมาณ 4.9 แสนราย ป้องกันการป่วยหนักจากโควิด 19 อีกนับล้านคน

รวมถึงประหยัดค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้กลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป สามารถเข้าถึงวัคซีนได้สะดวก ฉีดได้ตามความสมัครใจ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงสำหรับฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ได้กระจายสู่ทุกพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จึงควรเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็ก

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางวัคซีน Pfizer ฝาสีแดง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อฉีดให้กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน- 4 ปี โดยได้พิจารณาจากคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ร่วมกับคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และคำแนะนำภายใต้การขึ้นทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยสูงสุดแก่เด็ก

นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการรณรงค์ให้ประชาชนมารับวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ภายใต้กิจกรรม “รวมพลัง อสม.ส่งต่อภูมิคุ้มกันสู่ 608” ดังนั้นจึงต้องการขอความร่วมมือประชาชนวัยแรงงานช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการพาพ่อแม่ผู้สูงอายุให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมๆ กับรีบพาบุตรหลานมารับวัคซีน เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันขึ้นพร้อมกันก่อนจะเข้าฤดูหนาวที่อาจจะพบการระบาดครั้งใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ กลับมาสร้างอาชีพเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 พบอัตราการป่วยสูงในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ จากข้อมูลพบเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปีเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 69 ราย โดยมีอัตราป่วยมากกว่าในเด็กโตและเสียชีวิต 1.5 เท่า และป่วยเสียชีวิตมากกว่าเด็กโต 3 เท่า ประกอบกับพบเด็กที่มีภาวะ Mis-C หรือ Long Covid ที่มีอาการรุนแรง ในผู้ป่วยเด็กเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้น จึงแนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต ได้มีการสื่อสารไปยังทุกจังหวัดให้เร่งการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็ก ให้มีจัดหน่วยฉีดให้เข้าถึงง่าย เช่น คลินิกเด็กดี หรือใน รพ.สต. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเด็กที่มารับวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้สามารถรับพร้อมกันได้ หรือฉีดให้กับศูนย์เด็กเล็กเพื่อป้องกันการระบาดเป็นกลุ่มก้อน

นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันน้อย กำหนดการฉีดวัคซีน Pfizer ฝาสีแดงนั้น ให้ฉีดโดสละ 0.2 ซีซี (3 ไมโครกรัม) จำนวน 3 เข็ม (สัปดาห์ที่ 0, 4, 12) ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% แต่จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีภูมิคุ้มกัน เมื่อได้รับเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรง ที่สำคัญจะลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น หรือเด็กๆ อื่น

จากการศึกษาความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดง พบว่า มีความปลอดภัย อาการข้างเคียงไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่จะเจ็บบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย โอกาสพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อย เนื่องจากขนาดโดสต่ำกว่าวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วง 10 เท่า สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กของเอเชีย สนับสนุนให้เด็กได้รับวัคซีนทุกคนแนะนำให้เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน

โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ตามข้อแนะนำของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กคลอดก่อนกำหนด โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำโรคเบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนจะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 และสามารถกลับสู่ระบบการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการและทักษะทางสังคมต่อไป

คุณเฉลิมกุล อภิบุณโยภาส กรรมการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวขอบคุณภาครัฐที่ดูแลสุขภาพคนไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งวัคซีนสำหรับเด็ก 6 เดือน -4 ปี เป็นวัคซีนที่มีประโยชน์และมีความสำคัญกับเด็กในการป้องกันโรคโควิด 19 สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จึงเห็นความสำคัญและวางแผนที่จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนได้ให้ความร่วมมือให้บริการฉีดวัคซีน จำนวน 46 แห่ง เป็นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 27 แห่ง ปริมณฑล 9 แห่ง และกระจายในจังหวัดอื่นๆ โดยโรงพยาบาลเอกชนให้บริการกับเด็ก 6 เดือน -4 ปี ที่ประสงค์ฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถติดต่อพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลเอกชนหรือสอบถามข้อมูลหน่วยบริการเอกชนที่ให้บริการฉีดเพิ่มเติมได้ทาง สายด่วนกรมควบคุมโรค 1442 เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการฉีดวัคซีนฝาแดง สำหรับเด็ก 6 เดือน – 4 ปี โดยจะมีการประชุมกับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 เพื่อวางแผนเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการให้ได้รับวัคซีนโควิด 19 ต่อไป