กรมควบคุมโรค ลงนามความร่วมมืออำเภอรอบรู้ด้านสุขภาพ ในพื้นที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานราชการอำเภอนาดี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออำเภอรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรคเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งอำเภอรอบรู้ด้านสุขภาพ เป็นการบูรณาการดำเนินงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ การปกครองส่วนท้องที่ ราชการส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน ที่จะร่วมกันผลักดันให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตนเอง เข้าถึง เข้าใจ ประเมินและปรับใช้ข้อมูล    ในการดูแลสุขภาพ ตั้งเป้าหมายในปี 2565 ให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 25

วันที่ 4 มิถุนายน 2562 ณ ที่ว่าการอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดี   กรมควบคุมโรค นายแพทย์โชคชัย สาครพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี นายนพดล งามเหลือง   นายอำเภอนาดี หัวหน้าส่วนราชการในอำเภอนาดี และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการดำเนินงานอำเภอรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรค (ระดับอำเภอ) เพื่อพัฒนา ผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรค โดยคำนึงถึงศักยภาพ บทบาท หน้าที่ ภารกิจ และบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน ที่จะร่วมดำเนินการ ทั้งนี้เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปี 2565 นี้ ประชาชนจะได้รับการเสริมสร้างความรอบรู้อย่างบูรณาการ และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน โดยใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 6 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกระดับกำหนดและผลักดันนโยบายให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ 2.ให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกระดับจัดทำแผนงาน/โครงการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอในการขับเคลื่อน  3.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการทรัพยากรในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ 4.ให้หน่วยงานสาธารณสุข สถานศึกษา สนับสนุนข้อมูลโรคและภัยสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ  5.ให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกระดับประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโรคและภัยสุขภาพ  6.ให้หน่วยงานในพื้นที่ทุกระดับจัดสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ และลดความเสี่ยงการเกิดโรคและภัยสุขภาพ

***********************************
ข้อมูลจาก : สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค