นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และนายวิทยา แก้วมี ผู้อำนวยการกองแผนงาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนภาคใต้ ในวันที่ 28 ตุลาคม 2565
โดยมี นายการุณ แปลงรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายพิทักษ์พงษ์ ติ๊บแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครศรีธรรมราช และนายชูศักดิ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 รวมถึงความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จำนวน 5 จุด ได้แก่ ลุ่มน้ำตาปี, ต้นลุ่มน้ำตรัง, ลุ่มน้ำคลองกลาย, ลุ่มน้ำคลองท่าดี และลุ่มน้ำปากพนัง พร้อมจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ รวม 221 เครื่อง
เพื่อให้สามารถเร่งระบายน้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้ทันที รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนในพื้นที่ ปัจจุบันได้พร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากในช่วงตุลาคม-มกราคมนี้ไว้แล้ว
นอกจากนี้ ยังได้กำจัดวัชพืชและขุดลอกคลองที่ผ่านตัวเมืองนครศรีธรรมราชแล้วทั้ง 5 สาย ได้แก่ คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองนครน้อย และคลองท่าซัก เพื่อให้สามารถรองรับน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำและอาคารชลประทาน ยืนยันมีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพทุกแห่ง
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำให้มีการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งจะช่วยตัดยอดน้ำหลากในคลองท่าดีให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จึงได้เร่งรัดการดำเนินงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด
เพื่อให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ สามารถใช้ป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างยั่งยืนต่อไป แต่เนื่องจากระยะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนภาคใต้และจุดที่กำลังก่อสร้างเดิมเป็นพื้นที่รับน้ำ จึงได้กำชับให้วางแนวทางการจัดจราจรน้ำอย่างรัดกุม หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นประชาชนให้มากที่สุด