สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ต.ค. 65

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นได้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ (118 มม.) จ.สตูล (66 มม.) และ จ.เชียงใหม่ (61 มม.)

แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มลดลง ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มลดลง

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 28 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,257 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตราประมาณ 2,139 ลบ.ม./วินาที ด้านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,824 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง

เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 28 ต.ค.- 9 พ.ย. 65 เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางในบางช่วง รวมทั้งมีการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ประมาณ 1.70-2.20 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 28 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สระบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ นครนายก และปราจีนบุรี

ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,469 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,252 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 19 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร และบึงบระเพ็ด

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า กอนช. โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงเร่งติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และอำนวยการการปฏิบัติงาน บริหารจัดการมวลน้ำ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ตามนโยบายรัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน คู่ขนานไปกับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบทันที

ทั้งนี้ กอนช. ส่งข้อมูลคาดการณ์ช่วงเวลาที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติถึง 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสถานการณ์จะเริ่มทยอยเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางแผนให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมถึงรับทราบถึงแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งลุ่มต่ำโดยศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคกลาง เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างด้วยเช่นกัน