พช. สานพลังความต่อเนื่องปฏิบัติการตามแนวพระราชดำริฯ ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธ์รัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน สานพลังความต่อเนื่องปฏิบัติการตามแนวพระราชดำริฯ ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ชุมชนเข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสืบสาน รักษา และต่อยอดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่กลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องชะงักงัน สินค้าอุปโภค บริโภค กระทบหนัก ขาดแคลนและราคาสูงขึ้น โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยเริ่มต้นจากแผนปฏิบัติการ “Quick win” 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ขยายผลสู่ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน และต่อยอดการดำเนินงานในรอบ 2 ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ผ่านอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ในการขับเคลื่อนปฏิบัติการ
ซึ่งการขับเคลื่อนดำเนินการดังกล่าวได้รณรงค์ให้ประชาชน 12.9 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ดำเนินการปลูกผัก สวนครัวรั้วกินได้ 5 – 10 ชนิด ปลูกกล้วย 5 หน่อ มะละกอ 5 ต้น รวมถึงพืชสมุนไพรต้านโควิด พริก ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย ฟ้าทะลายโจร เพื่อสร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและยา เน้นการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต รวมกลุ่มแปรรูปผลผลิต วิสาหกิจชุมชน สร้างชุมชนสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน และการบริหารจัดการขยะ สร้างนวัตกรรมด้านอาหาร ได้แก่ เมนูอาหารรักษ์สุขภาพ ตลาดนัดสีเขียว ผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้าน มีความรักความสามัคคี และความเกื้อกูลของคนในชุมชน สร้างสวัสดิการชุมชน ศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า สร้างเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ สร้างวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งผลการดำเนินงานในปัจจุบัน มีผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาด รองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น คณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรี ผู้นำทางศาสนา บุคลากรในสังกัด และประชาชน เข้าร่วมดำเนินการอย่างคึกคัก พร้อมทั้งเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนในพื้นที่ปลูกพืชผักสมุนไพรให้ครบทุกบ้าน เน้นการพึ่งตนเอง ประกอบเมนูสุขภาพจากสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ผลการดำเนินงานจากโปรแกรม Plant for Good Report แบบ Real – Time มีประชาชนเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องจำนวน 11,379,606 ล้านครัวเรือน และมีผู้นำต้นแบบเข้าร่วมจำนวน 160,246 คน เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวมีความต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นการลดรายจ่ายของครัวเรือนให้ครอบคลุมทุกครัวเรือน (ตามเป้าหมายการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบนโยบายขับเคลื่อนปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนวทางรอบ 2 อย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด “จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาเราก่อน” สร้างกระแสรณรงค์ปลูกผักสวนครัวผ่าน “ผู้นำต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริง” ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด-นายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา กลุ่มสตรี และ บุคลากรในสังกัด ใช้ทีมนักพัฒนา 3 ประสานร่วมเป็นกลไกขับเคลื่อนปฏิบัติการ สู่ทุกครัวเรือนคือคลังอาหาร ทุกหมู่บ้านคือศูนย์แบ่งปัน เกิดทักษะชีวิตใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น เกิดชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน สร้างโมเดลต้นแบบที่มีความมั่นคงทางอาหาร 878 แห่ง จาก 878 อำเภอทั่วประเทศ
เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบในการนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชุมชน/หมู่บ้าน ให้มีความมั่นคงทางอาหาร มีความพร้อมสู่โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ในพระราชดำริ และโครงการตำบลเข้มแข็ง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชนรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนได้ปลูกผักสวนครัวไม่น้อยกว่า 10 ชนิด ให้ครอบคลุมเต็มพื้นที่ ครบ 100% ทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในครัวเรือน 90% ทั่วประเทศ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 พฤศจิกายน 2565 บันทึกรายงานผลผ่านระบบ Plant for Good Report แบบ Real – Time
พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้นำที่เข้าร่วมโครงการทุกกลุ่มเป้าหมายร่วมนำเสนอและแชร์ภาพประสบการณ์การลงมือปฏิบัติปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านช่องทาง Facebook Group “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช.” จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหารไปด้วยกัน” นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนกล่าวเชิญชวน