วันที่ 27 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ หมู่ที่ 5 ต.หนองย่างทอย อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นางนวลจันทร์ ศรีมงคล ผู้ตรวจราชการกรม นางสาวนิภา ทองก้อน ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน และนางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯ และร่วมกันปลูกต้นยางนา
โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดป้าย “ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ”
ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีผู้แทนส่วนราชการระดับกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกิจกรรม พร้อมพบปะกับภาคีเครือข่าย โดยได้รับเมตตาจาก พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ และคณะสงฆ์ในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม โดยมี นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสุเมธ ธีรนิติ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “พี่น้องทุกคนคือผู้เป็นความหวังของแผ่นดิน” เพราะท่านเป็นผู้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นจริงแท้ในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน อันเป็นพื้นที่ที่ช่วยทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ลูกหลานของพวกเราในอนาคตก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป
“ดังที่วัดพระวรราชาทินัดดามาตุแห่งนี้ ทุกท่านจะเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ เมื่อปีที่แล้วกับวันนี้ไม่เหมือนกัน ท่านเจ้าคุณเณร ได้พาพวกเราเดินตากแดดไปทั่วแปลง ปีที่แล้วก็คือดินดาน ดินหิน ไม่มีต้นไม้เลยสักต้น แต่วันนี้ หลังจากเราได้น้อมนำพระราชปณิธานมาขับเคลื่อนก็ยังผลให้เกิดความเขียวชอุ่ม มองแล้วชื่นตาชื่นใจ มองแล้วรู้สึกมีความสุข ภายใต้การนำของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อเณร ผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้เมตตาเป็นผู้นำ เสียสละพื้นที่ที่เป็นของวัด นำมาเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา
เพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นเสมือนโรงเรียนให้พวกเราเห็นทันตาว่า คนที่น้อมนำทำตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และต่อมาทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ข้าราชบริพารของพระองค์ท่านว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของ“เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งคำว่า “แก้ไขในสิ่งผิด” พระองค์ท่านเตือนพวกเราว่า แม้เราเคยมีความเชื่อ เคยดำรงชีวิตแบบไหนที่คนหรือสังคมทั่วไปอาจจะบอกว่า ‘มันไม่ดี’ สามารถปรับเปลี่ยนได้ คนที่เคยติดยาเสพติดก็สามารถเปลี่ยนเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีความประพฤติดี เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คนที่เคยขี้เกียจเกกมะเหรกเกเรไม่ยอมอ่านหนังสือ ก็อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถ้ารู้จัก ‘แก้ไขในสิ่งผิด'” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเน้นย้ำว่า ชาวเพชรบูรณ์โชคดีที่เรามีศูนย์เรียนรู้ฯ แปลง CLM 5 แปลง ซึ่งแปลงหนึ่งในนั้น เรามีพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับถือ เป็นที่พึ่งของญาติโยม คือ พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. หรือ “ท่านเจ้าคุณเณร” ซึ่งท่านเมตตาเสียสละ เป็นบัวพ้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นทางโลกนิมิต คือ การเป็นพื้นที่ต้นแบบในการน้อมนำทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในพื้นที่ จนก่อให้เกิดกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “โคก หนอง นา” ตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอรรถาธิบาย และสรุปว่ามัน คือ “อารยเกษตร” ซึ่งพระองค์ท่านทรงลงมือทำมาก่อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ที่พระองค์ทรงมีเป้าหมายให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำมาปฏิบัติตาม โดย
เป้าหมายที่ 1 ‘ประเทศต้องมั่นคง’ ต้องเกิดจากความรักความสามัคคี คนไม่ติดยาเสพติด คนไม่มั่วสุมอบายมุข ต้องรักษาประเพณีวัฒนธรรม มีความกตัญญูกตเวที เป็นคนดี เพื่อบรรลุ
เป้าหมายที่ 2 ‘ประชาชนต้องมีความสุข’ ซึ่งท่านเจ้าคุณเณรสามารถทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ในการที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสุข เกิดความชื่นอกชื่นใจและความเลื่อมใสแก่ผู้มาพบเห็น เราต้องช่วยกันขยายกระจายผลแห่งความสำเร็จนี้ไปให้ถ้วนทั่ว
เพื่อให้สิ่งที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งที่เป็นความสุข ดังปรากฏอยู่ ณ แปลงโคก หนอง นาแห่งนี้ ช่วยทำให้พี่น้องที่เป็นกำลังหลักของแผ่นดินได้ช่วยทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เพราะ “เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มได้จากทุกครัวเรือน”
“ครอบครัวจะมีความสุขไม่มีหนี้สิน ต้องลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิต พวกค่าบุหรี่ เหล้า ต่อมา คือ รายจ่ายที่จำเป็น ก็สามารถลดได้ ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อลดรายจ่าย และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะผักสวนครัวที่ปลูกไว้กินเองปลอดสารพิษ ปลอดภัย ปลอดสารเคมี ไม่ต้องเสียเงินไปหาหมอ และที่สำคัญที่สุดช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัว
ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานไว้หลายโครงการ ได้แก่ บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน ทหารพันธุ์ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เกิดการ “พึ่งพาตนเอง” จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ส่งเสริมให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP และทุกภาคส่วน ได้น้อมนำพระราชดำริ ช่วยกันปลูกผักสวนครัวไว้ในบ้านเยอะ ๆ ปลูกไว้กินเอง และแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน เน้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ให้ผลที่สามารถเก็บกินได้ เช่น มะม่วง ขนุน มะนาว มะกรูด ในพื้นที่สาธารณะข้างทาง โดยมีชาวบ้านช่วยกันดูแล เพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะ กับชุมชน ทำให้บ้านเมืองร่มรื่น สิ่งแวดล้อมดี ซึ่งการจะทำให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวภายในบ้านครบ 100% ได้ “ผู้นำต้องทำก่อน” เมื่อผู้นำดี ทีมงานดี สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อ
“ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และท่านนายอำเภอทั้ง 11 อำเภอ เป็นผู้นำที่มี Passion ช่วยกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนด้วยการรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปครัวเรือนละ 1 คน ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามของปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อากาศวิปริตแปรปรวน ให้เข้ามาร่วมสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 เพื่อร่วมมือกันดูแลครอบครัวให้รู้จักคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพิษ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในกางรรรนนรบริหารจัดการขยะมูลฝอย โดยใช้หลัก 3Rs หรือ 3ช : ใช้น้อย Reduce ใช้ซ้ำ Reuse และนำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ Recycle
โดยเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับบุคคลหรือประชาชน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งเป็นถังขยะเปียกคัดแยกขยะครัวเรือน ณ ต้นทาง ตั้งแต่แหล่งกำเนิด ให้ครบ 100% ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 และน้อมนำพระราชดำริ มาใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดการพึ่งพาตนเอง ช่วยกัน Change for Good ดูแลรักษาโลกใบเดียวนี้ของพวกเราให้มีอายุยืนยาว เพื่อทำให้เกิดความสุขที่แท้จริง เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่ง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธ์รัตน์ กล่าวว่าศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล แปลงวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “ โคก หนอง นา โมเดล”
แต่เดิมพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (CLM) ระดับตำบล ต้นแบบ วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่ปลูกพืชขึ้น ท่านเจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ (พระภาวนามังคลาจารย์) ได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล จึงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พื้นที่ 15 ไร่ โดยได้รับคำแนะนำจาก ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เมื่อปี พ.ศ.2564 และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหน่วยงานขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่นๆ ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่ดำเนินงานโคก หญิง นา โมเดล จำนวน 1,532 แปลง ดังนี้
งบเงินกู้ จำนวน 1,081 แปลง แบ่งเป็น แปลง 1 ไร่ จำนวน 202 แปลง , แปลง 3 ไร่ จำนวน 874 แปลง, แปลง 15 ไร่ จำนวน 5 แปลง
งบยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 451 แปลง แบ่งเป็น แปลง 1 ไร่ จำนวน 342 แปลง, แปลง 3 ไร่ จำนวน 109 แปลง
ขอขอบคุณทีมงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ทุ่มเทกำลังความสามารถ แรงกาย แรงใจในกายขับเคลื่อนการดำเนินงานจนเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นต้นแบบการเรียนรู้ความสำเร็จของการดำเนินงาน ขอให้เพียรพยายามรักษาความดีนี้ไว้ให้ยิ่งขึ้นไป และอยากให้เป็นตัวอย่างให้กับจังหวัดต่าง ๆ ได้นำไปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนต่อไป นายอรรษิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย