กรมชลประทาน เตรียมเครื่องจักรพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากฤดูฝนภาคใต้

กรมชลประทาน เตรียมรับมือฤดูฝนพื้นที่ภาคใต้ วางแผนติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำประจำจุดเสี่ยง เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ตามนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนของพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมให้การช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา อาทิ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิก ขนาด 42 นิ้ว  จำนวน 1 เครื่อง ที่บริเวณประตูระบายน้ำบางไทร ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากพนัง  และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว  จำนวน 2 เครื่อง  ที่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียทุ่งท่าลาด บ้านดอนหัวเล หมู่ที่ 2 ตำบลนาเคียน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่

ที่จังหวัดตรัง   ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮดรอลิก ขนาด 24 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง  บริเวณบ้านนาแขก หมู่ที่ 3 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ทางการเกษตรและพื้นที่ชุมชน ลงสู่คลองผันน้ำระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ก่อนระบายออกสู่ทะเลอันดามันตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณจุดเสี่ยงต่างๆ อาทิ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง  บริเวณสามแยก กม.0 ริมถนนสาย 4008 ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน

ที่จังหวัดพัทลุง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง บริเวณชุมชนอำเภอเก่า หมู่ที่ 1 ตำบลปากพะยูน อำเภอปากพะยูน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ ที่กำลังจะมาถึงนี้ ด้วยการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอด24ชั่วโมง

รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด  การตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง