ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ครั้งที่ 8/2565 ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 น.
ในที่ประชุม อกก.คง. ครั้งที่ 8/2565 ได้อนุมัติโครงการและให้ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการก่อสร้างถนนสายซอยผิวจราจรหินคลุกในแปลงเกษตรกรรม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร จำนวน 9 สาย เป็นงบลงทุน จำนวนเงิน 2,518,000 บาท โครงการดังกล่าว ส่งผลดีต่อเกษตรกรดังนี้
1) เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายถนนในแปลงเกษตรกรรม ให้มีความพร้อมก่อนการจัดสรรให้เกษตรกรใช้ประโยชน์
2) เพื่อให้เกษตรกรมีเส้นทางในการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น
3) เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการเข้าถึงแปลงเกษตรกรรมและขนส่งผลผลิต
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการอนุมัติและเบิกจ่ายเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามโครงการพัฒนาแปลงที่ดินที่ได้จากการยึดคืนพื้นที่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2565 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2565) โดยมีการอนุมัติโครงการที่ขอใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2565 ไปแล้ว จำนวน 82 โครงการ 6 กิจกรรม
นอกจากนั้นยังมีการอนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดซื้อและอนุมัติราคาที่ดิน ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 29-2-24 ไร่ วงเงินจัดซื้อทั้งสิ้น 3,695,000 บาท
ดร.วิณะโรจน์ เผยว่า “นอกจากการซื้อแปลงที่ดินเพิ่ม เพื่อนำมาจัดที่ทำกินให้เกษตรกร ส.ป.ก. ยังได้มีแผนพัฒนาอาชีพ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาให้เกษตรกรวางแผนและทำการเกษตรที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพ องค์ความรู้ ตลาด และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เน้นปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และตนเอง มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์
ทั้งนี้ ได้คำนวณต้นทุนและรายได้ต่อไร่ต่อปีในการส่งเสริมการผลิตซึ่งมีแผนการผลิตโดยเน้นการปลูกผักอินทรีย์ ผัก GAP ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง (น้ำหยด) รวมทั้งการเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาในกระชัง เพาะเลี้ยงเห็ด พืชสมุนไพร ไม้ผล และไผ่ เพิ่มเติมในพื้นที่ โดย ส.ป.ก. ได้กำหนดแผนการพัฒนาอาชีพต่อปีไว้ทั้งหมด 4 รูปแบบ และสามารถปรับได้ ตามความเหมาะสมของเกษตรกร ตลาด และพื้นที่ต่อไป
ในส่วนของการก่อสร้างถนนสายซอยผิวจราจรหินคลุกในแปลงเกษตรกรรม ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับคือ เกษตรกรได้รับความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นในการเดินทาง และช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งผลผลิต รวมถึงเกษตรกรได้รับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้อยู่ได้ อยู่ดี มีความสุข ในเขตปฏิรูปที่ดิน”