สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ออกกฎกระทรวงกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติม โดยมอบหมายให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีความผิดตามกฏหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา หรือหนี้นอกระบบ และเรื่องทำความผิดเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก
ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้อยู่ภายใต้การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดของความผิด ตามกฎหมายดังกล่าวบางประการให้มาอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป
เพื่อขับเคลื่อนงานดังกล่าว นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงมีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์ โดยมีฐานะเทียบเท่ากอง ที่มีสายงานบังคับบัญชา ขึ้นตรงต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่
1. ศูนย์คดียาเสพติด มีหน้าที่ เพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษ ตามประมวลกฎหมาย ยาเสพติด ฯลฯ
2. ศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็ก มีหน้าที่ เพื่อป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนคดีพิเศษ ที่เกี่ยวกับสื่อลามกอนาจารเด็ก ตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
3. ศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบและอำนวยความเป็นธรรม มีหน้าที่ ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับรูปแบบการทำงานเพื่อให้ทุกกองคดีมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีฟอกเงินทางอาญาที่มี คดีความผิดมูลฐานในความรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์สืบสวนเส้นทางการเงินและฟอกเงินทางอาญาขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีฟอกเงินทางอาญา ให้กับหน่วยงานต่างๆ และยังมอบหมายให้กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ไปศึกษา รูปแบบการทำงาน ระบบการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานงาน ของ สำนักงานสอบสวนกลาง ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงกระบวนการทำงาน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามกรอบ แนวทางการขับเคลื่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ ปีงบประมาณ 2566 ที่ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กำหนดไว้ 5 ด้าน คือ
1. เน้นการ ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในความผิดฐานฟอกเงิน ยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการกระทำผิด โดยเฉพาะคดียาเสพติด
2. ลดเวลาการสืบสวนสอบสวน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานให้มากขึ้น
3. ยกระดับมาตรฐานการสืบสวนสอบสวน ให้ทัดเทียมกับ FBI
4. ใช้ soft power ของหน่วยงานเพื่อป้องปรามและอำนวยความยุติธรรม
5. ผลักดันให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็น Super กรม