ซีเรียส! “สมศักดิ์” รีบแก้ปัญหาคนพ้นโทษ ออกมาก่อเหตุซ้ำ เร่ง “ยุติธรรม”จัด Watchlist บุคคลอันตรายให้ครบ หลังกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำ ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลใช้อีก 90 วัน สั่งตั้งอนุกรรมการ ศึกษาแบ่งเกณฑ์การจัดกลุ่ม-ใส่กำไลอีเอ็ม หวังให้สังคม-กลุ่มผู้หญิง รู้สึกปลอดภัย
วันที่ 26 ต.ค.2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวง โดยมี น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมต่างๆ และผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุม
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้า พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมาย JSOC ว่า ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้อีก 90 วัน คือ วันที่ 23 ม.ค.2566 ดังนั้น ตนอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ และการจัด Watchlist กลุ่มบุคคลอันตราย ให้ชัดเจน เพราะเริ่มมีผู้พ้นโทษ ออกมาก่อเหตุ แต่กลับไม่อยู่ในการจัด Watchlist
ขณะที่ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา กฎหมายJSOC ยังไม่จบ ทางกรรมาธิการฯ ก็มีการเพิ่มเติมมา จึงยังไม่มีการจัด Watchlist ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผู้พ้นโทษ บางรายที่ออกไปก่อเหตุนั้น ไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน Watchlist รวมถึงบางราย อาจยังไม่ชัดเจนว่า จะเข้าความผิดข้อใด ในการจัดกลุ่ม Watchlist ผู้ต้องขัง ที่ต้องเข้าข่ายทั้ง
ข้อ 1 ประกอบด้วย ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ,ความผิดเกี่ยวกับเพศ ,ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ,ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง ,ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
ข้อ 2 ประกอบด้วย ฆ่าเด็ก หรือ ข่มขืนเด็ก , ฆ่าข่มขืน ,ฆาตกรต่อเนื่อง ,กระทำผิดซ้ำซาก ,ฆาตรกรโรคจิต ,สังหารหมู่ ,ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ โดยทำให้บางราย เข้าหลักเกณฑ์เพียงข้อ 1 แต่ไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 2 จึงไม่ถูกจัด Watchlist
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีกฎหมาย JSOC ออกมาแล้ว เราต้องเร่งจัด Watchlist ตามฐานความผิด 12 มาตรา ซึ่งตนจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้ศึกษาการจัดกลุ่ม Watchlist ในการกำหนดว่าแต่ละมาตรการความผิด จะต้องมีการจัดอยู่ใน Watchlist ใด และต้องติดกำไลอีเอ็ม หลังพ้นโทษเป็นเวลาเท่าไร โดยขอให้อนุกรรมการชุดนี้ เร่งสรุปความคืบหน้าทุกสัปดาห์ พร้อมขอให้มีการหยิบยกคดีสำคัญขึ้นมา เป็นเคสตัวอย่างด้วย ว่าถ้าเป็นกรณีแบบนี้ ต้องติดกำไลอีเอ็มกี่ปี
“ก่อนหน้านี้ การจัด Watchlist ทำโดยยังไม่มีกฎหมาย แต่ขณะนี้ มีกฎหมายป้องกันการกระทำผิดซ้ำแล้ว เพียงก่อเหตุรุนแรง ก็จะเข้ามาตราต่างๆ ของกฎหมายนี้แล้ว ที่ต้องถูกเฝ้าระวัง ซึ่งการใส่กำไลอีเอ็ม จะไม่เท่ากัน ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณา และอนุกรรมการ ที่ผมตั้งขึ้นมาศึกษาแนวทางไว้ ซึ่งได้สั่งการให้เร่งด่วนที่สุด เพราะผมซีเรียสกับเรื่องนี้มาก รู้สึกเสียใจทุกครั้ง ที่ยังเจอข่าวผู้พ้นโทษ ออกมาก่อเหตุซ้ำ หรือ ข่าวสะเทือนขวัญ กับกลุ่มผู้หญิง ดังนั้น ผมจะเร่งจัดทำบุคคลอันตรายให้เร็วที่สุด เพื่อทำให้สังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง รู้สึกอุ่นใจ และปลอดภัยจากบุคคลอันตราย ที่เราช่วยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว” รมว.ยุติธรรม กล่าว