ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นการเปิดใช้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” คึกคัก

ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นการเปิดใช้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” คึกคัก แนวโน้มเห็นด้วยกับการปรับสถานีต้นทางปลายทางรถไฟทางไกลเป็นสถานีกลางฯ สนับสนุนรถไฟชานเมืองเข้าหัวลำโพง

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนในการเปิดใช้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ซึ่งจะปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางของรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วทุกสาย (ยกเว้นสายตะวันออก) จากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และปรับเส้นทางวิ่งของขบวนสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ ให้วิ่งบนทางยกระดับ ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรังสิต เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายการบริหารจัดการ โดยได้เริ่มสำรวจความคิดเห็น ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ นั้น

ผลที่ออกมาปรากฏว่า การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจ และส่งความคิดเห็นเข้ามายังการรถไฟฯ เป็นจำนวนมาก โดยความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทางขบวนรถจากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) ไปให้บริการรถไฟทางไกล ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขณะเดียวกัน มีประชาชนจำนวนมาก แสดงความคิดเห็นที่เห็นด้วยกับการที่การรถไฟฯ ยังคงให้ขบวนรถไฟชานเมือง ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย ให้บริการต้นทางปลายทางที่สถานีกรุงเทพตามเดิม

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังแสดงความคิดเห็นว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีความเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่ศูนย์กลางธุรกิจ การคมนาคมสะดวก สามารถเชื่อมโยงการเดินทางได้หลากหลายทางเลือก ดังนั้นจึงอยากให้การรถไฟฯ ใช้ประโยชน์จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้คุ้มค่าสูงสุด

นอกเหนือจากการให้บริการเฉพาะรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเท่านั้น ส่วนเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้โดยสารในช่วงเปลี่ยนถ่ายระบบนั้น ประชาชนมีแนวโน้มเห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้บริการรถโดยสายทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็ว ที่ซื้อตั๋วโดยสาร ลงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แต่ประสงค์จะลงสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเดิมขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีดอนเมืองได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

รวมทั้งยังเห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้บริการรถโดยสารเชิงสังคม ที่สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกล ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เฉพาะผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วประเภทตั๋วเดือน ในสถานีหลักสี่ สถานีบางเขน ที่หยุดรถกม.19 ที่หยุดทุ่งสองห้อง และที่หยุดรถกม.11 ที่การรถไฟฯ ไม่จอดให้บริการ

การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าการปรับเปลี่ยนสถานีต้นทางปลายทาง กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ ขบวนรถด่วน และขบวนรถเร็ว จากสถานีกรุงเทพ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะส่งผลดีต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้บริการที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพ มีรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเชื่อมต่อโดยตรง และใกล้จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สีม่วง สีชมพู อีกทั้งสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังอยู่ใกล้สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) มีรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อหลายสาย

ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นสถานีรถไฟสร้างภายใต้แนวคิดการออกแบบเพื่อมวลชน (Universal Design) รองรับการใช้บริการที่สะดวกสบาย ปลอดภัย คลอมคลุมสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ระบบชานชาลาสูง (110 ซม.) สะดวกต่อการขึ้น/ลงจากขบวนรถไฟ เนื่องจากพื้นชานชาลาอยู่ระดับเดียวกับพื้นรถ ความเพียงพอ และทันสมัยของห้องสุขา ระบบปรับอากาศของชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสารและที่พักรอ พื้นที่จอดรถยนต์ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี ทางการรถไฟฯ ขอเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยยังคงเปิดรับฟังความคิดเห็นฯ ไปจนถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ หรือคลิก https://forms.gle/zz3kJAMydBpNU2GT9 ซึ่งแบบสอบถามประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ด้านประชากรศาสตร์ และส่วนที่ 2 การแสดงความเห็นต่อข้อเสนอแนะสำหรับการปรับการเดินรถไฟทางไกลในแต่ละเส้นทาง ตามที่การรถไฟฯ ได้เตรียมการ และทบทวนแผนการเดินรถ ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับการเดินรถไฟทางไกลของการรถไฟฯ เข้า – ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และการเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณีให้ผู้โดยสารใช้ตั๋วโดยสารทางไกลเดินร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง

การรถไฟฯ ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมตอบแบบสำรวจ พร้อมให้ข้อเสนอแนะมายังการรถไฟฯ ซึ่งเราพร้อมน้อมรับทุกความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลมาประกอบนโยบายการบริหารจัดการเดินรถให้เหมาะสม สอดรับกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนการใช้ประโยชน์สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ให้คุ้มค่าสูงสุด และมีการบริการที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

ตามนโยบายของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการรถไฟฯ พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีบริการทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง ที่พร้อมเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ