กรมชลประทาน ติดตามและบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมแต่และพื้นที่ ลดผลกระทบประชาชน

วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน วันที่ 25 ตุลาคม 2565 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 64,088 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 12,774 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,655 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 4,288 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำทางตอนบน รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเช่นกัน และในหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลงตามไปด้วย รวมถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปริมาณน้ำจากทางตอนบนเริ่มลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและสายรองบางแห่งลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน จะพิจารณาการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนล่วงหน้าเพื่อให้สามารถรับมือได้ทันที ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ได้กำชับโครงการชลประทานทุกแห่ง สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมไปถึงการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำ ให้สามารถใช้งานได้ในสภาพที่สมบูรณ์ ตามนโยบายของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน