วันที่ 24 ตุลาคม 2565 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นห่วงพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว เรื่องความปลอดภัยในช่วงฤดูกาลที่มีแมงกะพรุนพิษของพื้นที่เกาะสมุย – พะงัน และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม และพื้นที่เกาะหมาก – เกาะกูด จังหวัดตราด ในช่วงเดือน พฤศจิกายน – เมษายน ในการนี้
อทช. ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัด ทช. และขอความร่วมมือทุกสถานประกอบการเฝ้าเตือนนักท่องเที่ยว เนื่องจากภูมิศาสตร์ของแต่ละหาดอาจไม่สามารถวางตาข่ายกั้นแมงกะพรุนได้หมด ขอให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามคำแนะนำของ Life guard หน้าหาด หรือผู้ประกอบการ พร้อมทั้ง ห้ามลงเล่นน้ำทะเลตอนหลังฝนตก ตอนกลางคืน หรือเล่นนอกทุ่นกั้นแมงกะพรุน
เนื่องจากจะทำให้เกิดอันตรายได้ โอกาสนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ระดมเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจในพื้นที่ที่พบแมงกะพรุนพิษประจำ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์เสาน้ำส้มสายชูในทุกพื้นที่ท่องเที่ยว และให้เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ระวังเป็นพิเศษ
นายอรรถพล เปิดเผยว่า พิษของแมงกะพรุนกล่อง มีผลต่อ ระบบในร่างกายหลักๆ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด หากได้รับพิษเยอะจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ภายใน 2-5 นาที และมีต่อระบบประสาท ทำให้หมดสติได้ ส่วนผลต่อระบบผิวหนังทำให้เป็นรอยไหม้และเป็นแผลเป็นไปตลอด หากสงสัยว่าสัมผัสพิษแมงกะพรุนพิษให้ราดด้วยน้ำส้มสายชูทันที น้ำส้มสายชูช่วยระงับการยิงพิษได้ ลดพิษเข้าสู่ร่างกาย การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องจะป้องกันการเสียชีวิตได้ ห้ามราดด้วยน้ำเปล่า ห้ามเอาทรายถู เพราะอาจจะทำให้เพิ่มการยิงพิษได้ หากหมดสติ ไม่รู้สึกตัว การปั๊มหัวใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ทั้งนี้ หากพบผู้ที่สัมผัสหรือได้รับพิษจากแมงกะพรุนกล่องให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในบริเวณนั้น และให้เร่งประสานสายด่วนศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลข 1669 เพื่อให้การช่วยเหลือโดยด่วน
อย่างไรก็ตามพี่น้องประชาชน ยังคงสามารถท่องเที่ยวได้ปกติ แต่ขอให้เพิ่มความระมัดระวัง และอย่าออกนอกพื้นที่ทุ่นกั้นแมงกะพรุน พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกฝ่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้คงความอุดมสมบูรณ์ สืบต่อไป
หากใครพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่เข้าตรวจสอบได้ทันท่วงทีต่อไป “นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย