นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิดการประชุมการดำเนินงานตามเกณฑ์ประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ร่วมด้วยนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมทั้งวิทยากรผู้ร่วมอภิปรายในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นางชุลีพร บุณยมาลิก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผศ.ด.ดรรชนี เอมพันธุ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางสาวกอบกุล ปิตรชาติ กรมการท่องเที่ยว และผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมใหญ่อาคารกริต สามะพุทธิ ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2561
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติได้ประกาศจัดตั้งแล้วจำนวน 131 แห่ง ครอบคลุมเนื้อที่ 39039303.55 ไร่ หรือประมาณ 12.17 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อที่ประเทศ ครอบคลุมระบบนิเวศทางบกและทางทะเลที่มีความสำคัญและสวยงาม หลายแห่งมีความโดดเด่นระดับประเทศและได้รับความนิยมสูงจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวพังงา เขาใหญ่ เกาะสิมิลัน เขาคิชฌกูฏ ดอยอินทนนท์ น้ำตกเอราวัณ เกาะเสม็ด เป็นต้น แต่เมื่อเกิดการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวที่มากเกินไป ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และมักพบปัญหาขยะมูลฝอย น้ำเสีย มลภาวะต่างๆ ดังนั้นพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สส.) ร่วมกับกรุมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกันพัฒนาหลักเกณฑ์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม พัฒนาอุทยานแห่งชาติของไทย ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีมาตราฐานในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการบริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การประกวด คัดสรรและคัดเลือก เพื่อตัดสินและมอบโล่รางวัลอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 และได้กำหนดเกณฑ์มาตราฐานเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 17 เกณฑ์ แต่ละเกณฑ์จะมีรายละเอียดครอบคลุมการบริหารจัดการด้านต่างๆ เพื่อเป็นการยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของอุทยานแห่งชาติสู่มาตราฐานสากล
นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ เผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯได้มีการกำหนดเป้าหมายว่า อุทยานแห่งชาติอย่างน้อย จำนวน 131 แห่ง จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานอุทยานแห่งชาติสีเขียวใน 3 ระดับ คือ ระดับทอง ระดับเงิน และระดับทองแดง (ตามค่าคะแนนที่มีการกำหนดไว้) ทั้งนี้เกณฑ์มาตราฐานอุทยานแห่งชาติสีเขียวได้รับการพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี 2559 มีจำนวน 15 เกณฑ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2560 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 17 เกณฑ์ แบ่งประเภทอุทยานแห่งชาติเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทภูเขา ประเภท น้ำตกและแหล่งน้ำ และประเภท เกาะและชายหาด ซึ่งเกณฑ์การประเมินจำนวน 17 เกณฑ์ ได้แก่ 1.กำหนดนโยบายและเป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 2.การส่งเสริมและร่วมมือกับชุมชน/ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 3.การจัดการด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 4.การจัดการสำนักงาน 5.การจัดการบ้านพักเจ้าหน้าที่ 6.การจัดการน้ำใช้ 7.การจัดการภูมิทัศน์วางผังบริเวณและสถาปัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 8.การจัดการด้านพลังงานไฟฟ้า 9.การจัดการขยะ 10.การจัดการน้ำเสีย 11.การจัดการห้องน้ำ-ห้องสุขา 12.การจัดการร้านอาหาร 13.การบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว 14.การจัดการค่ายพักแรม 15.การจัดการพื้นที่กางเต็นท์ 16.การจัดการศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและการสื่อความหมายธรรมชาติ 17.การจัดร้านขายของที่ระลึก
ขณะที่โครงการประกวดอุทยานแห่งชาติสีเขียว มีขั้นตอนการคัดเลือกอุทยานแห่งชาติที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และจะมีการพิจารณาโดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติสีเขียวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อคณะกรรมการได้มีการคัดเลือกและสรุปรับรองผลแล้ว จะมีการมอบโล่รางวัลในวันสิ่งแวดล้อมไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอายุรับรองรางวัล 3 ปี ซึ่งในปี พ.ศ.2560 มีอุทยานแห่งชาติเข้ารับการประเมิน 17 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 14 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อช.ภูพาน อช.ดอยภูนาง อช.ดอยอินทนนท์ อช.ดอยหลวง อช.เขาสามร้อยยอด อช.ธารโบกขรณี อช.อ่าวพังงา อช.เขาสก อช.เขาคิชกูฏ อช.แจ้ซ้อน อช.ดอยผ้าห่มปก อช.เขื่อนศรีนครินทร์ และอช.ตาดโตน
ทั้งนี้การประชุมการดำเนินงานตามเกณฑ์ประเมินอุทยานแห่งชาติสีเขียว (Green National Parks) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 มีการบรรยายที่น่าสนใจ คือ การบรรยายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ SDG กับอุทยานแห่งชาติสีเขียว เกณฑ์มตราฐานอุทยานแห่งชาติสีเขียว ประจำปีพ.ศ.2561 และการบรรยาย 7 GREEN สู่แนวทางการพัฒนาอุทยานแห่งชาติสู่ความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การขับเคลื่อนสู่ยุคอุทยานแห่งชาติสีเขียวอย่างมีประสิทธิภาพ และการเปิดให้คำปรึกษา แนวทางการดำเนินงานตามเกณฑ์อุทยานแห่งชาติสีเขียว เป็นต้น