รมว.เฮ้ง ห่วงใย เคสลูกจ้างถูกแผ่นคอนกรีตทับเสียชีวิตย่านสาทร สั่ง กสร.จับมือ สปส.ลงพื้นที่ช่วยเหลือด่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานห่วงเคสลูกจ้างถูกแผ่นคอนกรีตทับเสียชีวิตย่านสาทร สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบหาสาเหตุและให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย พร้อมย้ำนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ


นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีอุบัติเหตุแผ่นคอนกรีตล้มทับลูกจ้างเสียชีวิต เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 24 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สถานที่เกิดเหตุคือ บริษัท ประชุมทองพริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 22 ถนนสาทร แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์เก่าที่อยู่ระหว่างการรื้อถอน ในเบื้องต้นพบว่าผู้เสียชีวิต คือ นายมนัญชัย ปรากฏมาก อายุ 53 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นคนงานรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขณะเกิดเหตุลูกจ้างกำลังนั่งพักหลบแดด แผ่นคอนกรีตซึ่งเป็นพื้นบันไดขนาด 1.5 เมตร ยาว 2 เมตร หนา 8 นิ้ว จำนวน 3 แผ่น ได้ล้มทับร่างทำให้ลูกจ้างเสียชีวิตทันที จากเหตุการณ์สูญเสียดังกล่าว พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความเสียใจกับญาติ ครอบครัวของผู้เสียชีวิตผ่านมายังผม และให้ฝากถึงนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานเช่นนี้อีก ผมจึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมทั้งให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ที่ญาติผู้เสียชีวิตพึงได้รับในทุกมิติ

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมได้มอบหมายพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 ( ตลิ่งชัน) ประสานสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 11 ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือญาติของลูกจ้างผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับในทุกด้าน โดยจะเชิญนายจ้างมาพบเพื่อสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 และจะรวบรวมพยานหลักฐานว่านายจ้างมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ.2564 หรือไม่ หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ หากนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบกิจการใดประสงค์จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยในการทำงาน สามารถปรึกษาได้ที่ กองความปลอดภัยแรงงาน โทร. 0 2448 9128 – 39