กระทรวงวัฒนธรรม ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565

กระทรวงวัฒนธรรม เชิญร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2565 วัดยานนาวา เขตบางรัก 29 ตุลาคม 2665 สืบสานพระพุทธศาสนา ณ วัดยานนาวา มรดกวัฒนธรรมศิลปกรรมทรงคุณค่าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดยานนาวา เดิมชื่อ “วัดคอกควาย” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ต่อมาในสมัยธนบุรี ราวพุทธศักราช ๒๓๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง และเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยลำดับ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า (รัชกาลที่ 3) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่กุฏิสงฆ์ และปฏิสังขรณ์พระอารามเดิมในสมัยอยุธยา พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดญาณนาวาราม” หมายถึง “ญาณอันเป็นพาหนะดุจดั่งสำเภาข้ามโอฆะสงสาร” ปัจจุบันได้เลื่อนเป็น “วัดยานนาวา”

รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชดำริจะสร้างพระเจดีย์บนพระสำเภาพระเจดีย์รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี จำนวน ๒ องค์ องค์เล็กเป็นพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบหก และองค์ใหญ่เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ เพื่ออุทิศพระราชกุศลแก่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าลักขณา (พระบิดาของพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีพระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) ที่สิ้นพระชนน์ไปแล้ว และเพื่อจะทรงแผ่พระราชกุศลแก่พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพให้หายพระประชวร โดยมีพระราชปรารภว่า

“แต่ก่อนมาเรือที่ใช้ไปมาค้าขายกับต่างประเทศใช้เรือสำเภาเป็นพื้น ในเวลานั้นเกิดต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้กันขึ้น ด้วยเห็นว่าดีกว่าเรือสำเภาจีน ต่อเรือกำปั่นใบอย่างฝรั่งใช้กันมากขึ้นทุกที…จึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเป็นสำเภาเท่าเรือสำเภาจริงขึ้นไว้…”

พระอุโบสถ ได้รับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม สร้างแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๗ กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างงานศิลปกรรมชั้นเยี่ยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่น หน้าบันฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ทำเป็นลายเทพนมประดับด้วยลวดลายสัตว์หิมพานต์อย่างประณีตบรรจง ซุ้มประตูพระอุโบสถทำเป็นตัวนาค ประดับกระจก ส่วนบานประตูและหน้าต่างเป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓ เขียนลายรดน้ำปิดทองที่งดงาม

พระวิหารเก๋งจีน สันนิษฐานว่าในอดีตรัชกาลที่ 3 ทรงใช้เป็นที่เปลี่ยนเครื่องทรงก่อนเข้าพระอุโบสถ และเป็นที่ประทับพักพระราชอิริยาบถ เมื่อคราวเสด็จฯ มาทรงควบคุมการสร้างพระสำเภาพระเจดีย์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๖ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่ทับทิม ประจำวัดยานนาวาและเป็นที่บำเพ็ญกุศลชองพุทธศาสนิกชนทั่วไป

อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ ในโอกาสมหามงคลแห่งการเฉลิมพระเกียรติ ๒๐๐ ปี วันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ประดิษฐานอยู่หน้าพระสำเภาพระเจดีย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 พระแท่นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า สร้างขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๖๗ เมื่อคราวเสด็จฯ มาควบคุมการก่อสร้างเรือสำเภาเจดีย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เคยเสด็จฯ มาวัดยานนาวาหลายครั้ง เช่น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๖ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตสัมพันธวงศ์ บางรัก ป้อมปราบศัตรูพ่าย และสาทร และที่วัดยานนาวา โดยทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศ และยกฉัตรพระพุทธปฏิมาประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งทรงเปิดป้าย อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ และหอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติฯ และทรงเป็นประธานถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดยานนาวาในปีเดียวกัน และเมื่อพุทธศักราช 2551 ทรงประกอบพิธีเปิดงานสมโภชพระอารามหลวงวัดยานนาวา ๒๔๐ ปี และทอดพระเนตรการดำเนินงานพัฒนาสถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติฯ WBTV

วัดยานนาวาซึ่งเป็นประจักษ์พยานแห่งพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาและพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสมเด็จบูรพมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ทรงเป็นองค์อักรศาสนูปถัมภกที่ทำนุบำรุงทุกศาสนาในพระราชอาณาจักร โดยมีพระราชศรัทธาในการสถาปนาและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดยานนาวาสืบเนื่องต่อมาทุกรัชกาลจนถึงปัจจุบัน ให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของพุทธศาสนิกชน เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และหนึ่งในพระอารามที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของชาติ

ในพุทธศักราช 2565 กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดยานนาวา ในวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ขอเชิญประชาชนร่วมสืบสานพระพุทธศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน