สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ต.ค. 65

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ต.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบนจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ภาคใต้มีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.สงขลา (54 มม.) จ.ปัตตานี (54 มม.) และ จ.เพชรบุรี (48 มม.)

+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

+ สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา 24 ต.ค. 65 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,496 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำในพื้นที่ตอนบนแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่าน
ในอัตราประมาณ 2,503 ลบ.ม./วินาที ด้านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 2,964 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง

+พื้นที่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง มีคันกั้นน้ำชำรุด บริเวณคลอง 1 ซ้าย บรมธาตุ และคลองชัยนาท-อยุธยา โดยกรมชลประทานได้เร่งซ่อมแซมแล้วเสร็จในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้เร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

+ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 31 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ นครนายก ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และตรัง

+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 68,494 ลบ.ม. (83%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 60,249 ล้าน ลบ.ม. (84%) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 21 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อย ทับเสลา ป่าสัก กระเสียว ห้วยหลวง อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง ขุนด่าน บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทร บึงบระเพ็ด และหนองหาร

+ นายกรัฐมนตรีติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.สิงห์บุรี วานนี้(24ต.ค.65) ณ สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดสิงห์บุรี ในการนี้ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ด้วย

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยใน จ.สิงห์บุรี ส่วนใหญ่เป็นปัญหาอุทกภัยที่เกิดในพื้นที่ราบลุ่ม สภาพน้ำท่วมเกิดจากปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลมาจากตอนบน ไหลล้นตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย เข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้น้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี ท่าช้าง พรหมบุรี บางระจัน และ ค่ายบางระจัน ในพื้นที่ จ.สิงห์บุรีได้รับผลกระทบ จำนวน 6 อำเภอ 25 ตำบล 13 ชุมชน 167 หมู่บ้าน 20,419 หลังคาเรือน 58,811 คน ผู้เสียชีวิต 6 ราย ได้มีการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จัดสถานที่พักพิง การแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่ม แจกถุงยังชีพ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนจัดเรือท้องแบน จำนวน 40 ลำ ทหารเรือและทหารบก อปพร. เข้ามาช่วยเหลือในพื้นที่ ส่วนการดำเนินการฟื้นฟูหลังน้ำลด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสูบน้ำออก ทำความสะอาดบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย เพื่อคืนพื้นที่ให้ประชาชนกลับสู่คืนสู่สภาวะปกติ

นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการเร่งแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมโดยเร็ว พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565 วานนี้ (24 ตุลาคม 2565) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงเรือท้องแบนเพื่อพบปะให้กำลังใจประชาชนและเยี่ยมบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย ณ หมู่ที่ 3 ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ซึ่งสถานการณ์น้ำโดยรวมขณะนี้เริ่มมีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับการระบายของเขื่อนเจ้าพระยาและระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เริ่มลดลงเช่นกัน ทำให้ จ.สิงห์บุรี ได้วางแผนที่จะเร่งสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่บ้านเรือนประชาชนไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาให้สัมพันธ์
กับสถานการณ์น้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ และให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นอกจากนี้ได้กำชับสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่บ้านเรือนประชาชน
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว ให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

2. สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 25 – 27 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 28 – 30 ต.ค. 65 บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะเริ่มลดลง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงในระยะถัดไป สำหรับ
ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 68,494 ล้าน ลบ.ม. (83%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำ 60,249 ล้าน ลบ.ม. (84%) ขนาดกลาง 355 แห่ง ปริมาณน้ำ 5,079 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,894 แห่ง ปริมาณน้ำ 3,166 ล้าน ลบ.ม. (62%)

4. สถานการณ์น้ำท่วม สถานการณ์อุทกภัยในชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันมี 31 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ภาคกลาง 11 จังหวัด สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี และอุทัยธานีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา และสุรินทร์ภาคตะวันออก 2 จังหวัด นครนายก ปราจีนบุรี ภาคใต้ 3 จังหวัด สุราษฎร์ธานี นราธิวาส และตรัง