เมื่อวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรม Prince Hotel Sunshine City กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต) มอบหมายให้นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (รองอธิบดี สค.) เป็นประธานการประชุมจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือสตรีและครอบครัวไทยของเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ โดยมีวิทยากรร่วมจากกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (นางสาวแคทรียา ปทุมรส) ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล (นายบัญชา ยืนยงเจริญ) พร้อมด้วยคณะ และผู้แทนกรมบัญชีกลางเข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุมครั้งนี้มีเครือข่ายหญิงไทยในประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมทั้งสิ้น 32 คน จาก 30 เครือข่ายในประเทศญี่ปุ่น เช่น เครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น สมาคมเด็กไทยกรุ๊ป กลุ่มคนไทยในไซตามะ โดยมีอายุระหว่าง 30-70 ปี และหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น อาจารย์ นักกฎหมาย ล่าม พนักงานของรัฐญี่ปุ่น ลูกจ้างทั่วไป แม่บ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ สถานการณ์ทั่วไป สภาพปัญหา และข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ
สถานการณ์ทั่วไป พบว่ามีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 51,003 คน เป็นหญิง 72% เป็นชาย 28% พำนักระยะยาว 61.2% และพำนักผิดกฎหมาย จำนวน 6,860 คน สภาพปัญหาหญิงไทยและครอบครัวที่สำคัญ คือ การสื่อสารภาษาญี่ปุ่น ความรู้เรื่องกฎหมาย ซึ่งผลมาจากการไม่รู้ภาษาและกฎหมาย ส่งผลให้เกิดปัญหาการประกันสุขภาพ การประกอบอาชีพ เศรษฐกิจในครอบครัว การเลี้ยงดูบุตร ความเข้าใจวัฒนธรรมของญี่ปุ่น
บทบาทของเครือข่ายหญิงไทยในประเทศญี่ปุ่น ได้มีการรวมตัวกันตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือโดยตรงหรือผ่านช่องทาง social media ทาง facebook และ Line Group โดยกระบวนการให้ความช่วยเหลือ ส่วนใหญ่ จะเป็นการให้คำปรึกษา การส่งต่อ case ไปยังสถานทูตไทย หรือสถานกงสุล สมาคม มูลนิธิ เพื่อให้การช่วยเหลือ ทั้งกรณีความรุนแรง การเงิน หรือส่งกลับ โดยความถี่ในการช่วยเหลือหญิงไทย ประมาณวันละ 10-15 ราย นอกจากนี้ กลุ่มเครือข่ายหญิงไทย ได้มีการจัดทำเอกสารแปลภาษาญี่ปุ่นเป็น ภาษาไทย เช่น คู่มือด้านสุขภาพ คู่มือเรียนอักษรภาษาญี่ปุ่น (คันจิ) เพื่อเป็นการเผยแพร่และแบ่งปันการเรียนรู้ซึ่งกันและกันโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย
ผลสรุปของการดำเนินโครงการ พบว่า กลุ่มเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ มีความพึงพอใจอย่างมาก และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างแข็งขัน มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อการช่วยเหลือหญิงไทย ที่ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ต่อเครือข่ายหญิงไทยให้มีการทำงานลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน self help group อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ได้แก่
1) อบรมให้ความรู้แก่หญิงไทย ก่อนเดินทางไปอยู่ประเทศญี่ปุ่น
2) ระบบการประสานส่งต่อการช่วยเหลือหญิงไทย การเชื่อมโยงข้อมูลการช่วยเหลือของเครือข่ายหญิงไทย และภาครัฐ ทั้งในประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย
3) การอบรมวิธีการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยของกลุ่มเครือข่ายโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเครือข่าย
4) การสนับสนุนการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
5) การมี license สำหรับล่าม ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือหญิงไทย
6) สายด่วนการช่วยเหลือ เช่น 1300 ควรเพิ่มช่องทางเร่งด่วน ผ่าน socail media : facebook/ line/ เว็ปไซต์สำหรับในส่วนของเว็ปไซต์ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว อยู่ระหว่างการปรับปรุงเว็ปไซต์ “เครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ” (yingthai.dwf.go.th) เพื่อให้เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศในการประสานการดำเนินงานกับภาครัฐ
โดยเห็นว่า การจัดกิจกรรมเครือข่ายหญิงไทย ในครั้งนี้ ควรจะมีการติดตามผลในปีต่อไป และสามารถเป็นแบบอย่าง model ขยายผลไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายหญิงไทย ให้เป็นภาคประชาคมทำงานคู่ขนานกับภาครัฐ ในการลดผลกระทบของผู้หญิงไทยในต่างประเทศ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน SDG เป้าประสงค์ที่ 5 ด้านความเสมอภาคของสตรี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาของสตรีในกลุ่มเสี่ยงต่อพหุวัฒนธรรม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วย