บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการช่วยเหลือคู่ค้าธุรกิจกว่า 15,000 รายต่อเนื่อง จับมือกับพันธมิตรเดินหน้าเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจให้แก่คู่ค้า ยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการระดับโลก หนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของคู่ค้าธุรกิจ ต่อห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟในการผลิตและส่งมอบอาหารคุณภาพสูง ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการหลากหลาย เพื่อช่วยให้คู่ค้ามีความพร้อมทั้งการเงินและทักษะความรู้ที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพร้อมรับมือกับทุกความท้าทายที่เกิดขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการประสบผลสำเร็จและเติบโตต่อไปในอนาคต
ในเดือนกันยายน ปีนี้ ซีพีเอฟจับมือธนาคารกรุงเทพ ดำเนิน โครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” เพื่อช่วยเหลือให้คู่ค้าธุรกิจกว่า 15,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME กว่า 5,000 รายสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ สำหรับใช้เสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านบริการสินเชื่อหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ ของธนาคารกรุงเทพ เป็นโครงการช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องทางการที่แข็งแรงให้คู่ค้าซีพีเอฟสามารถประกอบธุรกิจได้ต่อเนื่อง ช่วยลดภาระหนี้สินและต้นทุนให้แก่คู่ค้าธุรกิจ เพิ่มโอกาสให้คู่ค้าสามารถขยายธุรกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกยังคงมีความผันผวน
“โครงการ CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า ได้รับการตอบรับจากคู่ค้ามีความต้องการเข้าร่วมเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่เปิดตัวเพียงเดือนเดียว โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้มากขึ้น นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และเตรียมความพร้อมในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างยั่งยืน” นางสาวธิดารัตน์กล่าว
โครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” เป็นการต่อยอดจากโครงการ Faster Payment ที่ซีพีเอฟริเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2565 ด้วยการลดระยะเวลาเครดิตเทอมภายใน 30 วัน ซึ่งสามารถช่วยเหลือคู่ค้า SME จำนวนกว่า 5,000 รายที่ขาดสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียนใช้การดำเนินกิจการได้ สามารถดูแลหรือช่วยเหลือพนักงานอย่างทั่วถึง และสามารถข้ามผ่านในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง
นางสาวธิดารัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจาก สภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแรงแล้ว ซีพีเอฟยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจยึดหลัก ESG (Environment, Social, Governance) ภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
โดยซีพีเอฟตรวจประเมินสถานประกอบการและโรงงานผลิตของคู่ค้าธุรกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมกันปรับปรุงและยกระดับการดำเนินงานของคู่ค้าธุรกิจตามมาตรฐานของไทยและสากล พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจ SME พัฒนาการดำเนินงานโดยคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเด็นด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม แนวปฏิบัติที่ดีต่อแรงงาน การบริหารความเสี่ยงการทุจริตและคอร์รัปชั่น รวมทั้งด้านคุณภาพ ความปลอดภัยอาหารตามมาตรฐานในระดับสากล./