เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วย นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายนายสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมเป็นประธาน ในพิธีเปิดการประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในสื่อ โดยมีนายกฤษฎา คงคะจันทร์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหาร กลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนจากหน่วยงานองค์กร และผู้แทนเครือข่ายเยาวชน Seed Thailand เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ โรงแรมพลูแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ) กล่าวว่า การประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นฯ ครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความหลากหลายทางเพศแก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบกิจการ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่าง วธ. สำนักงาน กสทช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกลุ่มเป้าหมายการประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ได้เชิญกลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนจากหน่วยงานองค์กร รวมทั้งผู้แทนเครือข่ายเยาวชน Seed Thailand รวมทั้งสิ้นกว่า 100 คน เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปสำคัญอันนำไปสู่การขับเคลื่อนและขยายผลในระดับนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในสื่อให้ครอบคลุม ทุกกลุ่มเป้าหมายต่อไป ที่สำคัญเป็นการบูรณาการงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชากรทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคมไทย และนับว่าเป็นโอกาสสำคัญในการรับฟังเสียงจากภาคีเครือข่ายงานวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคปัจจุบันและในอนาคต
“การประชุมดังกล่าวมีการจัดเสวนาหัวข้อ “การส่งเสริมบทบาทกลุ่มเป้าหมาย : ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์ ในการบริโภคสื่ออย่างสร้างสรรค์” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 หน่วยงาน คือ วธ. สำนักงาน กสทช. รวมถึง พม. และจะมีการแบ่งกลุ่มเพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้พิการ กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยพิจารณาทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ในมิติต่อตนเอง มิติสื่อ มิติสังคม และมิติภาครัฐ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแนวทางการดำเนินงานร่วมกับผู้ประกอบกิจการสื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ปลัด วธ. กล่าว
นางยุพา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด สิ่งต่าง ๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต พฤติกรรมและค่านิยมของคนในสังคม โดยทิศทางการขับเคลื่อนงานในปี 2566 วธ. มีเป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรมตามนโยบาย “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน” โดยบทบาทงานวัฒนธรรม ต้องตอบโจทย์สถานการณ์โลกในยุคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และการพัฒนางานวัฒนธรรมผ่านการใช้สื่อดิจิทัลปรับโฉมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสร้างนวัตกรรมใหม่ที่หนุนเสริมงานด้านวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และบรรลุเป้าหมาย BCG Model เพื่อให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีภูมิคุ้มกันด้านสังคมพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อาทิ ความเข้าใจในความหลากหลายทางความคิด วิถีชีวิต การเข้าถึงการเทคโนโลยีการสื่อสารและความหลากหลายทางวัฒนธรรมทั้งเชิงกายภาพและการสื่อสารในพื้นที่เสมือนบนโลกออนไลน์ รวมทั้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ปลุกจิตสำนึกและเสริมสร้างค่านิยมเชิงบวกสู่สังคมคุณธรรมในบริบทสังคมไทยและสังคมโลกซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ วธ. ให้บรรลุเป้าหมายต้องได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มชาติพันธุ์ ในฐานะภาคีเครือข่ายที่มีศักยภาพ ในขณะที่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันเสริมพลัง (Empower) และหนุนเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ