“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 พ.ค. 62 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 23,622 ราย เสียชีวิต 30 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 15-24 ปี  ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ตราด สมุทรสาคร นครปฐม ลพบุรี และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ  โดยพบว่าจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกช่วง ม.ค.–พ.ค. 62 เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  และเมื่อเทียบกับค่ามัธยฐาน พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธฐาน 5 ปีย้อนหลังมาตั้งแต่ต้นปี และปีนี้อัตราป่วยตายสูงขึ้น”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรค และเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่เป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออก  กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนให้ดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  ถ้ามีอาการไข้สูง ควรใช้ยาพาราเซทตามอล โดยห้ามใข้ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือยากลุ่ม NSAID (non-steroidal anti-inflammatory drug) เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น หากไข้ไม่ลดลง ร่วมกับปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน อาจมีอาการไอแต่ไม่มีน้ำมูก มีจุดเลือดออกตามตัว หรือเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา  ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเน้นใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันดอกไม้ทุกสัปดาห์  2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่  นอกจากนี้ขอให้ป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง นอนในมุ้ง ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422               ”

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค