เมื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมงานและกล่าวต้อนรับในนามรัฐบาลไทยต่อผู้นำศาสนาคริสต์ที่มาร่วมในพิธีเปิดการประชุมใหญ่สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย ในหัวข้อ“การประชุมสภาบิชอปแห่งเอเชีย โอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้ง เดินไปด้วยกัน ในฐานะประชาชาติแห่งเอเชีย” โดยมี คาร์ดินัล ชาร์ล เมียง โบ ประธานสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายชยชัย แสงอินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และนางฐิติรัตน์ เรืองสังข์ วัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมทั้งชมการแสดงสื่อผสม การเผยแพร่ศาสนาศริสต์ตั้งแต่สมัยอยุธยาและเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน ของโรงเรียนในเครือคาทอลิก ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาลบ้านผู้หว่าน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
นายอิทธิพล คุณปลื้ม กล่าวในพิธีเปิดงานว่า สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย โดยสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การทางศาสนาในความอุปถัมภ์ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมใหญ่ สหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี (Summit of the Federation of Asian Bishops’ Conferences) จัดการประชุมระหว่างวันที่ 9 – 30 ตุลาคม 2565 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากสมาชิกของสหพันธ์บิชอปแห่งเอเชีย จำนวน 31 ประเทศ อาทิ อินเดีย อัฟกานิสถาน บรูไน กัมพูชา ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ เนปาล สาธารณรัฐประชาชนจีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนาม และประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีผู้แทนที่ได้รับการเชิญเป็นพิเศษจากสภาบิชอป ได้แก่ ผู้แทนจากประเทศเปรู สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก และอิตาลี รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมในนามรัฐบาลไทย รวมทั้งสิ้น 270 คน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การหารือเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันของเอเชียในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรม 2. การไตร่ตรองร่วมกันถึงแนวทางการใช้คำสอนของศาสนาจักรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ในเอเชีย 3. ทบทวนหลักธรรมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของศาสนจักรในช่วงศตวรรษต่อไป โดยกำหนดให้มีการแถลงการณ์ผลประชุม ในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า นับเป็นโอกาสอันดีของไทยที่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในครั้งนี้ ด้วยประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และเป็นแบบอย่างของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สัมผัสกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม และเป็นโอกาสของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะเผยแพร่ความงดงามทางวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาของนานาประเทศที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนด้วยไมตรีจิต ผลักดันให้วัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ เกียรติภูมิ และยกระดับบทบาทด้านศาสนาและวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก ตลอดจนเป็นการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สู่ระดับนานาชาติ ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยมุ่งหวังว่า การประชุมในครั้งนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสังคม เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นําศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในภูมิภาคเอเชีย คริสตชนนิกายอื่นๆ และศาสนาอื่นๆ รวมทั้งการสร้างการรับด้านศาสนาวัฒนธรรมของประเทศไทยผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับสากล