ก.แรงงาน จับมือ ILO จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการ เสริมสร้างความเสมอภาคหญิง-ชาย สู่แรงงานคุณภาพ
นายสุทธิ สุโกศล อธิบกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อแรงงานในหลากหลายอาชีพ ที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานสตรี ที่มีความเปราะบาง (vulnerability) ทางเศรษฐกิจ สังคม และการจ้างงาน ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและทักษะไม่ตรงกับความต้องการ กพร.จึงร่วมกับ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานสตรีในสถานประกอบกิจการขึ้น นำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง แรงงานหญิงอาจได้รับผลกระทบ จึงจำเป็นต้องได้รับการยกระดับทักษะฝีมือและทักษะด้าน ดิจิทัล และ STEM เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบาย 3A กระทรวงแรงงาน ในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker)
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ILO ได้คัดเลือกให้บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งเป็นสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์บันทึกข้อมูลหรืออาร์ดดิส์กไดร์ฟสำหรับคอมพิวเตอร์ มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมา มีพนักงานในฐานการผลิตที่จังหวัดนครราชสีมากว่า 1,500 คน เป็นหญิงประมาณ 1,100 คน คิดเป็นร้อยละ 73 ของพนักงานในฐานการผลิตนี้ อีกทั้งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะให้กับพนักงาน สามารถจัดพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมได้ตลอดหลักสูตร
โดยในปี 2562 กพร.มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 1,050 คน เป็นกลุ่มสตรี ที่ทำงานในสถานประกอบกิจการ ทำงานประจำสายพานการผลิตซึ่งบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความร่วมมือในการจัดหาสถานที่ฝึกอบรม กพร.และ ILOสนับสนุนวิทยากรให้ความรู้ สำหรับหลักสูตรที่จัดอบรมนั้น ในสาขา การวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอเพื่อกระบวนการผลิต มีระยะเวลาการฝึกอบรม 36 ชั่วโมง เนื้อหามี 2 ส่วนด้วยกันคือ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Microsoft Excel และการนำเสนอข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Power Point เน้นการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะและรายงานผลในกระบวนการผลิต
“การฝึกอบรมดังกล่าว จะช่วยให้พนักงานในสายการผลิตที่เป็นกลุ่มสตรี มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมฝึกให้เรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน สร้างความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการปรับทัศนคติที่ดี ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จะช่วยให้มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น และสิ่งสำคัญคือสถานประกอบกิจการ มีแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้อีกด้วย” อธิบดี กพร.กล่าว