รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการ sacit ดันผู้ประกอบการหัตถศิลป์ไทย ให้เร่งผลิตชิ้นงานศิลปหัตถกรรมเป็นของที่ระลึก ของขวัญ ของฝาก ขับเคลื่อน Gift Economy รับนักท่องเที่ยวไตรมาสสุดท้ายของปี หลังสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เป็นลำดับ ส่งผลให้การค้าการลงทุนดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของปี 2565 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและส่งสัญญาณดีขึ้นอย่างชัดเจน จากตัวเลขกระทรวงการคลัง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ ในปี 2565 ทะลุ 5 ล้านคนแล้ว พร้อมทั้งมองว่าในช่วงที่เหลือของปี นักท่องเที่ยวน่าจะเดินทางเข้าประเทศเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านคน ทำให้เป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งปีที่ 8-10 ล้านคน และในปี 2566 คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและส่งออกจะฟื้นตัวต่อเนื่อง น่าจะขยายตัว 3-4% ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสทางการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานศิลปหัตถกรรมไทยภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่าเพื่อเป็นการเตรียมรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระตุ้นภาคการค้าจากการจับจ่ายใช้เงินทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก และค่าท่องเที่ยวในระหว่างพำนักในประเทศไทยแล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าของที่ระลึก จากตัวเลขของสมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน ก่อนที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากโควิด ในแต่ละปีตลาดของที่ระลึกที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวมีมูลค่ามากกว่าปีละ 28,000 ล้านบาท จึงได้มอบหมายให้ sacit หรือสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคงานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดรับกับ Gift Economy นอกจากทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนแล้ว สินค้าของที่ระลึกยังเป็นสิ่งเตือนความทรงจำของนักท่องเที่ยวให้ระลึกถึงสถานท่องเที่ยวที่เคยมาเยือน รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นกลับมาเที่ยวซ้ำอีกในโอกาสต่อไป ซึ่งของที่ระลึกจากงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยมือทุกขั้นตอน มีความละเอียดประณีต สะท้อนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน บางชิ้นอาจสร้างขึ้นมาชิ้นเดียวในโลก ไม่ซ้ำแบบใคร มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบร่วมสมัยที่สามารถนำไปใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน ด้วยงานหัตถกรรมเป็นงานทำด้วยมือใช้เวลาในการผลิตค่อนข้างนานจึงจำเป็นต้องเร่งผลิตเพื่อเป็นสต๊อคสินค้าไว้รองรับความต้องการของผู้ซื้อต่อไป
นายภาวี โพธิยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า sacit มีแผนในการเร่งผลิตงานศิลปหัตถกรรมเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยการนำนวัตกรรมมาใช้ร่วมกับกระบวนการผลิต เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้เร็วยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น งานจักสานเตยปาหนัน จากเดิมที่ใช้วิธีริดหนามเตยด้วยมือ sacit ได้สร้างเครื่องริดหนามเตยขึ้นใหม่ สามารถลอกหนามได้ในครั้งเดียว ช่วยลดการบาดเจ็บ และเพิ่มความรวดเร็วในการผลิตงานจักสานเตยปาหนันได้ นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมโยงงานหัตถกรรมไทยกับการท่องเที่ยว โดยจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชุมชนหัตถกรรม ปัจจุบันมีกว่า 44 ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตและภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยในชุมชน รวมถึงการขยายช่องทางการขายงานศิลปหัตถกรรมไทยผ่านตลาดออนไลน์ ภายใต้ชื่อ sacit Corner ร่วมกับศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัล ศูนย์การค้าเดอะมอลล์กรุ๊ป และ King Power ซึ่งเป็นการพัฒนาการตลาดเชิงบูรณาการที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดมากขึ้นไปอีกด้วย