กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ให้ประชาชนรู้เท่าทันสุขภาพตนเอง ป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ในพิธีลงนามความร่วมมือ เพื่อพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาพประชาชน และยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข เพื่อให้คนไทยแข็งแรง ลดการเจ็บป่วย ความพิการ และการเสียชีวิต รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรังในแต่ละปีจะพบผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 70 ของการเสียชีวิตทั้งหมด ความร่วมมือในการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติครั้งนี้ จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง ทำให้รู้เท่าทันสุขภาพจากการตรวจคัดกรอง ประเมินภาวะสุขภาพได้ด้วยตนเอง เกิดความตระหนัก ในการป้องกันและดูแลให้มีสุขภาพที่ดี รวมทั้งประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงจะได้รับการติดตามดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายใหม่ ส่วนประชากรกลุ่มป่วย จะได้รับคำแนะนำให้เข้ารับบริการรักษาตามมาตรฐาน และสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ เครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ประกอบไปด้วย การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก วัดดัชนีมวลกาย โดยเครื่องจะแปรค่าและประมวลผลออกมาเป็นคำแนะนำการปฏิบัติตัว นอกจากนี้ข้อมูลจะถูกถ่ายโอนเข้าสู่ระบบ Cloud ซึ่งเชื่อมโยงกับสมาร์ทโฟนของผู้รับการตรวจ ในระยะแรกจะมีการพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจสุขภาพเบื้องต้น จำนวน 100 เครื่อง เพื่อนำไปติดตั้งใน 10 จังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และพื้นที่เป้าหมาย โดยจะเริ่มติดตั้งในเดือนกรกฎาคม 2562