เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เพราะมีผู้สูงอายุเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทั้งภาครัฐ สังคม ชุมชน และครอบครัว ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย รู้จัก เข้าใจ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย : นวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย จะช่วยพลิก “วิกฤติ” เป็น “โอกาส” แก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในชุมชน
“ธนาคารเวลามุ่งเน้นทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งสมาชิกของธนาคารเวลาจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือในคน ๆ เดียวกัน” เป็นความเห็นของ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นางภรณี อธิบายว่า แนวคิดเรื่องธนาคารเวลามีต้นแบบมาจากต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะการที่เรามีจุดแข็งอยู่ที่รูปแบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นไปในลักษณะของเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน เน้นทำกับคนรู้จักกันก่อน แล้วจึงค่อยขยายออกไปอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน
“ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยนี้ ถือเป็นถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย ที่จะช่วยดูแลแก้ปัญหาให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการผู้ดูแล สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้” นางภรณี กล่าว
ด้าน นางปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาชุมชนรองรับสังคมสูงวัย เล่าให้ฟังว่า ธนาคารเวลา คือ การสะสมเวลาในรูปแบบของบัญชีส่วนบุคคล โดยสามารถเบิกถอนเวลามาใช้ได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชน หรือผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ หรือความสามารถในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เป็นสมาชิกธนาคารเวลา เช่น ขับรถพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล พาไปธนาคาร พาไปซื้อของ พาไปทำบุญ ซักผ้า ล้างจาน ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมประปา ตัดต้นไม้ กวาดถูบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ตัดผม ป้อนข้าวผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น โดยมีผลตอบแทนเป็นเวลาที่เท่ากัน คือ 1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 หน่วยเวลา ที่จะถูกบันทึกลงในสมุดบัญชีธนาคารเวลา ซึ่งสมาชิกสามารถเบิกเวลาที่คงเหลืออยู่มาใช้ได้ เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ
“การออมเวลาสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออมเงิน เพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักคุณค่า ทักษะ และความสามารถของตัวเอง ธนาคารเวลาจะเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางปิติพร กล่าว
ขณะที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เล่าว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะเกิดน้อย แต่อายุยืนมากขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ขณะที่คนรุ่นใหม่แนวโน้มมีลูกลดลง สถานการณ์เช่นนี้ในอนาคตอาจเกิดปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดธนาคารเวลาช่วยสร้างสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี 7 ข้อ
- พึ่งพาอาศัยกันยามวิกฤติ
- มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคม
- ดูแลซึ่งกันและกัน
- เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไปมาหาสู่
- ทำกิจกรรมร่วมกัน
- เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
- รู้จักกัน
ดร.นณริฏ บอกว่า โดยหลักการของธนาคารเวลาแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพของเศรษฐกิจแบบใด ธนาคารเวลายังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ เพราะแม้ธนาคารจะไม่สามารถเพิ่มรายได้ แต่ก็สามารถช่วยลดรายจ่ายของสมาชิกได้ บนฐานของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
ด้าน ชนิสรา ละอองดี ตัวแทนจากธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนคนในชุมชนจะต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยได้ขอความช่วยเหลืออะไรกันมาก ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนจะใช้ชีวิตลำบากมาก แต่พอมีการทำโครงการธนาคารเวลาขึ้นมา คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น เพราะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชนมากขึ้น มีอะไรก็พูดคุยกัน ที่สำคัญยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เช่น ถ้าอยากจะตัดผมเราก็แจ้งขอสมาชิก 1 คนที่ตัดผมเป็น พอเสร็จเราก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่ให้เครดิตเวลากับคนที่มาช่วยตัดผมไป 1 ชั่วโมง เป็นต้น
ธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เชื่อว่าหลักการและแนวคิดของการพัฒนานี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับสังคมไทยในอนาคต สสส. ขอส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพต่อไป
ที่มา www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวทีเสวนา รู้จัก เข้าใจ ธนาคารเวลา นวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย