กรมอนามัย เผย สูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เสี่ยงมะเร็งช่องปากมากถึง 10 เท่า

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถิติปี 2558 ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเป็นอันดับ 6 ของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั้งหมด โดยเป็นผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โรคนี้มีอัตราการตายสูง พบอัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีของประชากรทั่วโลกต่ำกว่าร้อยละ 50 สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคมะเร็งช่องปากคือ “การสูบบุหรี่” โดยพบว่า 8 ใน 10 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งช่องปากเคยสูบบุหรี่มาก่อน ควันและความร้อนจากบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดานปาก และลำคอ เมื่อถูกระคายเคืองเป็นประจำ เนื้อเยื่อจะมีการอักเสบ หนาตัว เสี่ยงต่อการเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปาก การสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากได้มากถึง 10 เท่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ

ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบอื่นๆจากการสูบบุหรี่คือ คราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนผิวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี มีกลิ่นปาก ความสามารถในการรับรสลดลง การหลั่งน้ำลายลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดฟันผุ นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม จากการมีคราบเหนียวของน้ำมันดินในบุหรี่ติดแน่นบนตัวฟัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขัดออกนานมาก ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รักษาไม่หายขาด อีกทั้งโรคจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟันไป โดยผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ 2 เท่า สำหรับผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก หากไม่หยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่เบ้ากระดูกเบ้าฟันได้ง่าย

 

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /    พฤษภาคม 2562