นิคม RIL ใน SCGC คว้า Eco-World Class แห่งแรกในไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

นิคม RIL ใน SCGC คว้า EcoWorld Class แห่งแรกในไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ยกระดับการจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งดำเนินธุรกิจควบคู่การดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามแนวทาง ESG

กรุงเทพฯ : บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด (RIL) ในกลุ่มธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ เอสซีจีซี (SCGC) ได้รับการรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco Industrial Estate – World Class (Eco-World Class) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยในปีนี้ได้รับการรับรองต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วยหลักบรรษัทภิบาล ตามแนวทาง ESG สะท้อนเจตนารมณ์ในการยกระดับมาตรฐานการจัดการในกระบวนการผลิตสู่มาตรฐานระดับสากล นำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานในกระบวนการผลิต ทั้งยังเป็นต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ

โดยมีนายบุญเอื้อม น้อยเอม กรรมการผู้จัดการ บริษัทอาร์ไอแอล 1996 จำกัด ในกลุ่มธุรกิจ SCGC และนายสุพัฒน์ สวัสดิ์-ชูโต ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) กำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรม RIL เป็นตัวแทนรับมอบโล่เกียรติยศพร้อมใบประกาศเกียรติคุณจาก นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในงาน “ECO Innovation Forum 2022: Eco Journey to Carbon Neutrality” ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร

นายบุญเอื้อม น้อยเอม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ไอแอล 1996 จำกัด ใน SCGC กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรม RIL ใน SCGC ได้ขับเคลื่อนให้โรงงานทั้งหมดที่ดำเนินธุรกิจอยู่ภายในนิคมฯ ผ่านการรับรองเป็นโรงงานเชิงนิเวศ หรือ Eco Factory 100% โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และชุมชน ร่วมกันผลักดันให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในจังหวัดระยอง พร้อมทั้งมีการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมตามกรอบแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน และการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานการจัดการด้านต่าง ๆ เช่น มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management; PSM) การดำเนินงานมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียวระดับสูงสุด (Green Industry Level 5) รวมทั้งมาตรฐานโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในกระบวนการผลิต เป็นต้น จึงทำให้นิคมอุตสาหกรรม RIL ได้รับการรับรองจาก กนอ. ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-World Class ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแห่งแรกในประเทศไทย ต่อเนื่องถึง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน”

ซึ่งโครงการที่มีส่วนสนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรม RIL ได้รับการรับรองเป็น Eco-World Class ในปีนี้ ได้แก่ โครงการด้าน Symbiosis หรือการแลกเปลี่ยนก๊าซเชื้อเพลิงและรีไซเคิลก๊าซเหลือทิ้งระหว่างโรงงานภายในนิคมฯ ทำให้ลดการกำจัดของเสียและเปลี่ยนเป็นมูลค่าเพิ่มได้ในเชิงพาณิชย์ที่เป็นต้นแบบของประเทศ โครงการ Flare Gas Recovery การนำสารไฮโดรคาร์บอนที่ต้องเผาทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถลด อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 997 ตัน โครงการ Vent Gas Recovery การติดตั้งท่อเพื่อนำก๊าซที่เหลือจากระบบกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต สามารถลดการซื้อวัตถุดิบได้ 13,664 ตัน โครงการด้าน Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการนำถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) ไปฟื้นฟูเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัดลงได้จำนวนมาก และโครงการด้าน Eco Community ณ ชุมชนเนินพยอม ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง โดยการส่งเสริมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในชุมชน การจัดกิจกรรมและการรวมกลุ่มชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจท้องถิ่น ได้แก่ โครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่การผลิต การหาตลาด การช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และช่วยเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์ ประเด็นสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการคัดแยกขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ รวมทั้งสนับสนุนธนาคารขยะชุมชนและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการแยกขยะ และโครงการด้านการดูแลความปลอดภัยในชุมชน ได้แก่ โครงการ The Lifesaver ผู้พิทักษ์ชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงาน ECO Innovation Forum 2022 ยังมีอีก 7 โรงงานในกลุ่มธุรกิจ SCGC ที่ได้รับรางวัล โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ได้แก่ บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บริษัท ระยองเทอร์มินัล จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด บริษัท ไทยเอ็มเอฟซี จำกัด และบริษัท แกรนด์สยามคอมโพสิต จำกัด และมี 4 โรงงาน ที่ได้รับรางวัลโรงงานสนับสนุนข้อมูลการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ได้แก่ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และ บริษัท ระยองเทอร์มินัล จำกัด เหล่านี้เป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และการร่วมมือกันก้าวสู่การพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ การรับรองนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีด้วยกันทั้งหมด 3  ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 Eco-Champion ระดับที่ 2 Eco-Excellence และระดับที่ 3 Eco-World Class (ระดับสูงสุด) อีกทั้งยังมีรางวัลโรงงานสนับสนุนข้อมูลการดำเนินงานพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ รวมทั้งการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ประกอบไปด้วย รางวัลโรงงานเชิงนิเวศ (Eco Factory) และโรงงานอุตสาหกรรม 4.0 ตามลำดับ

ผู้สนใจสามารถติดตามนวัตกรรมและข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://www.scg.com/esg/ https://scgnewschannel.com /Facebook: scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannel หรือ Line@: @scgnewschannel

เกี่ยวกับ นิคมอุตสาหกรรม RIL

นิคมอุตสาหกรรม RIL ในกลุ่มธุรกิจ SCGC เริ่มพัฒนาที่ดินเป็นนิคมอุตสาหกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2547 ในพื้นที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งที่ผ่านมา ทางนิคมฯ ได้นำมาตรฐานการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติบริหารจัดการ มาใช้บริหารจัดการภายในนิคมฯ และชุมชนโดยรอบ นำไปสู่การเป็นต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทั้งการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนในรูปแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน และมีการดูแลด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จึงได้รับการรับรองเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-Champion ด้วยคะแนนสูงสุดติดต่อกัน 3 ปี (2557-2559) กระทั่งในปี 2560 นิคมฯ อาร์ไอแอล ได้ผ่านการตรวจประเมินเป็น Eco- Excellence แห่งแรกของประเทศไทย และสามารถก้าวสู่ระดับ Eco-World Class ซึ่งเป็นระดับสูงสุดได้ในปี 2562 เป็นแห่งแรกในประเทศไทยอีกเช่นกัน และสามารถรักษาระดับการบริหารจัดการตามมาตรฐาน Eco-World Class ได้อย่างต่อเนื่อง 4 ปี จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังคงมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐาน ตลอดจนการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอย่างมีความสุข เพื่อร่วมกันก้าวสู่ความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างมั่นคงและยั่งยืน