นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีภารกิจหลักในการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเน้นบทบาทการสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม ทุนวัฒนธรรมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลรายงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านมา การทำงานของ วธ.ได้ร่วมปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรมให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่
1.การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในทุกช่วงวัย
2.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมแบบบูรณาการ
3.การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
ซึ่งในส่วนของการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม วธ. มีการรณรงค์เรื่องคุณธรรม 5 ประการ วินัย พอเพียง สุจริย จิตอาสาและความกตัญญู ทำให้คนไทยเกิดจิตสำนึกช่วยเหลือกันเห็นชัดเจนในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เยาวชนที่ช่วยเหลือผู้อื่นที่ถูกไฟดูดได้รับการยกย่องจากสังคม การถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบด้านคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กว่า 25,000 ชุมชนทั่วปะเทศ การยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลด้านคุณธรรมฯ พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน เยาวชน และชุมชน ที่สำคัญมีการใช้โชเซียลเครดิต (Social Credit) ผู้ที่เป็นปูชนียบุคคล การทำความดีสามารถนำมาเป็นเครดิตหรือต้นทุนทางสังคมได้ ยกตัวอย่าง ชุมชนบ้านหนองสาหร่าย จังหวัดเพชรบุรี หากใครทำความดีหรือเป็นบุคคลตัวอย่างสามารถเป็นเครดิตให้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ของธนาคาร กองทุนหมู่บ้าน สวัสดิการต่างๆพิเศษจากชุมชน และภาครัฐ รวมไปถึงขณะนี้มีบริษัทต่างๆ นำเรื่องโซเซียลเครดิตไปใช้ในการบริหารงาน เช่น พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือน การพัฒนาบุคลากร ทำให้เกิดทัศนคติในเชิงบวกต่อองค์กร ดังนั้น วธ.จึงรณรงค์ให้เด็กเยาวชน ประชาชนทุกช่วงวัยเห็นถึงการมีทัศนคติบวก เช่น หยุดจอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุข้ามถนน เป็นการทำดีได้ง่ายๆในชีวิตประจำวัน
ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมแบบบูรณาการ วธ.ได้เปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ๆ จากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมชุมชน ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่การสร้างงาน สร้างรายได้อย่างครบวงจร การพัฒนาคุณธรรม บุคลากร เนื้อหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจำหน่าย แลกเปลี่ยนสินค้า โดยมีโครงการที่โดดเด่นๆ อาทิ การสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยเพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์สินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” โครงการกรุต้นและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย CCPOT ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ศิลปะเพื่อการเรียนรู้ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดจิตสำนึกรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง ภายใต้โครงการ เมืองศิลปะ “ไทยแลนด์เบียนนาเล่”
และการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม อาทิ การพัฒนาระบบการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management System) ให้มีศักยภาพมาตรฐานสำหรับคนทุกช่วงวัยทั้งในเชิงกายภาพ และพัฒนาระบบการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยการใช้ QR Code, AR Code และระบบ VR (Virtual Reality) พัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบทั้งหมด 18 แห่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 42 แห่ง อุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่ง การพัฒนาระบบบริการข้อมูลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในแหล่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี พัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ของหอจดหมายเหตุ และสำนักหอสมุดแห่งชาติทั่วประเทศให้อยู่ในระบบดิจิทัล การพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้สาธารณะรูปแบบใหม่ของประเทศ ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายต่อการสืบค้นเห็นภาพในอดีต เกิดการเรียนรู้อรรถรสสนุก บันเทิง ได้รับความสนใจเด็กเยาวชนมาก ถือเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วนในความร่วมมือขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม