กระทรวงเกษตรฯ คิกออฟ โชว์แปลงเกษตรอัจฉริยะ ‘ข้าว’ จ.สุพรรณบุรี แห่งแรกในแปลงใหญ่   

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขานรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ยุค Thailand 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และการเพิ่มผลิตภาพ โดยอาศัยเทคโนโลยีวิทยาการสมัยใหม่และความคิดสร้างสรรค์ เป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมการนำแนวคิดเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตและปรับรูปแบบการทำเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ให้เกิดเป็นรูปธรรม ตลอดจนแนวโน้มการทำเกษตรกรรมของโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนไปจากการเกษตรดั้งเดิม พัฒนาไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ และการเกษตรอัจฉริยะสูงขึ้น รวมทั้งภาคการเกษตรของประเทศไทยในอนาคต ที่กำลังเผชิญสภาวะการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเล็งเห็นความสำคัญของทิศทางของการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาการเกษตรในปัจจุบัน สู่การเกษตรอัจฉริยะ มุ่งสู่เกษตรสมัยใหม่ เกษตรแม่นยำ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตทางการเกษตร สอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่เกษตร 4.0 เพื่อทำให้อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผน ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ ขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลเป็นรูปธรรม 3 ด้าน ในปี 2562 ประกอบด้วย 1. การจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิต ใน 6 พืช ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ในพื้นที่แปลงใหญ่ และมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะ 2. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) และ 3. การจัดทำแผนแม่บท หรือ Roadmap   การขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายอภัย สุทธิสังข์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการจัดงานรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตข้าวในนาแปลงใหญ่ ปี 2562 ณ นาแปลงใหญ่บ้านสวนแตง ต.สวนแตง อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี ว่า งานรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นที่แปลงของ นายพิชิต เกียรติสมพร Smart Farmer และประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านสวนแตง ที่มีสมาชิกแปลงใหญ่ 83 ราย พื้นที่ 1,030 ไร่ โดยสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตข้าวในแปลงต้นแบบ 20 ไร่ ซึ่งข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เกษตรกรปลูกเป็นจำนวนมากถึง 62 ล้านไร่ทั่วประเทศ โดยเน้นการเปรียบเทียบกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของเกษตรกร กับกรรมวิธีตามแนวทางของเกษตรอัจฉริยะ ที่ได้มีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการผลิตพืช เริ่มตั้งแต่ การเตรียมดิน การวิเคราะห์ดินเพื่อจัดทำแผนที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของดิน การเตรียมพันธุ์พืช การดูแลกำจัดศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยว โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และเครื่องจักรต่าง ๆ มาใช้ อาทิ เครื่องปลูก เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เครื่องกำจัดวัชพืชที่มีความแม่นยำสูง เครื่องตรวจวัดความต้องการธาตุอาหารพืช เครื่องให้ปุ๋ยอัติโนมัติตามค่าวิเคราะห์ดิน ระบบการควบคุมการให้น้ำอัจฉริยะ การใช้อากาศยานไร้คนขับในการสำรวจการเจริญเติบโตของพืชร่วมกับการพ่นสารชีวภัณฑ์ เครื่องเก็บเกี่ยวอัตโนมัติ การใช้ sensor ตรวจวัดสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแปลงเรียนรู้เพื่อนำไปสู่พัฒนา Big Data Platform ที่สามารถประมวลผลข้อมูลผ่านระบบ internet เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งระบบการประมวลผลเหล่านี้คณะกรรมการฯ กำลังขับเคลื่อนให้เกิดศูนย์ปฏิบัติการหลักหรือ War room ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรโดยเฉพาะเกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ได้นำไปใช้ ถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย โดยมีเป้าหมายจัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะใน 5 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดหวังเป็นอย่างยิ่งให้เกษตรกร Smart Farmer, Young Smart Farmer ทั้งใน จ.สุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียงอีก 5 จังหวัด จำนวน 300 คน ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้เห็นอย่างประจักษ์ทั่วกันว่าแนวทางเกษตรอัจฉริยะนั้นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นรูปธรรม และได้เรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ และเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่มาช่วยในการทำเกษตรที่สามารถทำได้จริง โดยการสาธิตเปรียบเทียบการทำเกษตรกรรม ระหว่างวิธีการทำเกษตรแบบดั้งเดิมของเกษตรกร กับวิธีการทำเกษตรแบบเกษตรอัจฉริยะนี้ แสดงให้เห็นว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีความแม่นยำสูงสามรถเพิ่มผลผลิตได้ เช่น การปลูกข้าวแบบอัจฉริยะ 2 ระบบ ได้แก่ ระบบนาดำ และระบบการทำนาหยอดข้าว ที่ควบคุมนำร่องการเคลื่อนที่ด้วยระบบ GPS ร่วมกับการควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติหรือ auto steering เพื่อช่วยในการบริหารจัดการพื้นที่แปลงปลูกข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถลดเมล็ดพันธุ์เหลือเพียง 8 กก./ไร่ และสามารถลดต้นทุนได้ถึง 500 บาท/ ไร่ (เมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิมคือการทำนาหว่าน ที่ใช้เมล็ดพันธุ์ถึง 30 กก./ไร่) นอกจากนี้เกษตรกรยังได้ทราบถึงการใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะสำหรับการผลิตข้าวนาแปลงใหญ่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปปรับใช้ในการพัฒนาการผลิตข้าวคุณภาพ และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะในระยะถัดไปกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังที่จะขยายผลโดยการส่งเสริมให้เกษตรกรแปลงใหญ่ข้าวใน ต.สวนแตงแห่งนี้ นำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะไปขยายผลในพื้นที่เกษตรกรแปลงใหญ่อย่างเป็นระบบและเข้มแข็ง” นายอภัย กล่าว

นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานรณรงค์ฯ ในวันนี้ เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศ สมาคม ผู้ประกอบการ Startup ด้านการเกษตรอัจฉริยะที่ได้รับการส่งเสริม/สนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และเกษตรกร ในรูปแบบประชารัฐ โดยการขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับเป็นต้นแบบในการทำการเกษตรอัจฉริยะ รองรับนโยบายประเทศไทย ๔.๐ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของภาคการเกษตรและเกษตรกรต่อไปในอนาคต โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมงานจะได้เรียนรู้กระบวนการการผลิตพืชทั้งระบบด้วยวิธีเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสาธิตระบบเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะสำหรับการผลิตข้าว โดยวิธีการปลูกข้าวแบบอัจฉริยะ 2 ระบบ คือ ระบบนาดำ และระบบการทำนาหยอดข้าวงอก ร่วมกับการใช้ระบบควบคุมการให้น้ำอัจฉริยะในแปลงนา ซึ่งคิดค้นโดยวิศวกรของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ควบคุมด้วยระบบ sensor ที่สามารถส่งข้อมูลไปยัง แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนของเกษตรกรได้ซึ่งเหมาะสมกับวิธีทำนาเปียกสลับแห้ง ประหยัดการใช้น้ำ นอกจากนี้ยังมี การใช้เทคโนโลยี UAV ในการจัดการโรคและแมลง โดยโดรนบินสำรวจพร้อมติดตั้งกล้อง Multispectrum เพื่อดูสุขภาพของข้าว และความผิดปกติของต้นข้าว และการระบาดของโรคและแมลง และการฉีดพ่นสารเคมี หรือสารชีวภัณฑ์ เพื่อลดการใช้แรงงาน และเพิ่มปริมาณงาน ซึ่งปลอดภัยต่อผู้ที่ต้องฉีดพ่นในแปลง รวมถึงจัดทำแผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของดินรายแปลง เพื่อการจัดการการใช้ปุ๋ยอย่างแม่นยำ สามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยในนาข้าว ใช้ CropSpec ซึ่งเป็น Sensor สำหรับวิเคราะห์ความต้องการธาตุอาหารของพืชโดยตรวจสอบทางใบ เพื่อจัดทำแผนที่แสดงความต้องการธาตุไนโตรเจนของข้าว จะได้ข้อมูลที่แม่นยำ เมื่อถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวจะมีการติดตั้ง sensor กับรถเกี่ยวนวด ประเมินผลผลิตข้าวรายแปลง เชื่อมโยงกับระบบ IOT เพื่อสามารถประเมินผลผลิตข้าวได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว เกษตรกรได้รู้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงสภาพพื้นที่ได้ต่อไป ขณะเดียวกันมีการเฝ้าระวังด้วยสถานีตรวจวัดอากาศทราบอุณหภูมิ ความชื้น  มีกล้องคอยดูการเจริญเติบโตของข้าว และกล้องตรวจจับชนิดแมลงศัตรูพืชสามารถเฝ้าระวังการเกิดโรคและศัตรูพืช รวมถึง สร้าง IOT platform เพื่อเสนอข้อมูลการประเมินผลจาก sensors ต่าง ๆ ในแปลงนา เพื่อใช้แจ้งเตือนเกษตรกรให้สามารถเตรียมรับมือจัดการในแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และที่สำคัญคือจะมีการเสนอข้อมูลจาก sensors ต่าง ๆ ที่ติดตั้งในแปลงนามาแสดงผลบนจออัจฉริยะ หรือ Dash board จอแสดงผลเพื่อแจ้งเตือน ช่วยในการจัดการในแปลง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่หลากหลาย มาผสมผสานใช้เป็นต้นแบบในแปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีและแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะไปขยายผลในเกษตรแปลงใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเกษตรอัจฉริยะ หรือ War room เพื่อช่วยประมวลผลและจัดส่งข้อมูลให้เกษตรกร เพื่อช่วยในการตัดสินใจในระบบการทำเกษตรกรรมได้อย่างแม่นยำผ่านแอปพลิเคชั่น ต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้