กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเวทีเสวนาการขับเคลื่อนงานช่วยเลิกบุหรี่แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดเสวนาการขับเคลื่อนงานช่วยเลิกบุหรี่แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อบูรณาการความร่วมมือและแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคีเครือข่ายวิชาชีพแพทย์และสุขภาพ ในการพัฒนางานช่วยเลิกบุหรี่ให้มีศักยภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา เปิดเวทีเสวนาความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายวิชาชีพแพทย์และสุขภาพ ในการขับเคลื่อนงานช่วยเลิกบุหรี่แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือและแลกเปลี่ยนมุมมองของภาคีเครือข่ายในการพัฒนางานช่วยเลิกบุหรี่ให้เข้าสู่งานประจำ และพัฒนาศักยภาพการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่ของบุคลากรในสถานบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเสพยาสูบ หากผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ ยังคงเสพยาสูบอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งบุหรี่นอกจากจะเป็นอันตรายต่อตัวผู้สูบเองแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อบุคคลรอบข้างที่ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย ดังนั้น การสูบบุหรี่ จึงเป็นปัญหาสำคัญ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก

สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทย จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2560 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อปี แต่กลับพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชน ในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ต่อปี ซึ่งกลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของตลาดธุรกิจยาสูบ ซึ่งในแต่ละปีจะมีเยาวชนไทยประมาณ 2 – 3 แสนคน เสพติดบุหรี่ใหม่ ทดแทนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่แล้วเสียชีวิต หรือเลิกสูบไปในอนาคตจะส่งผลให้ ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานช่วยผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 – 2562 ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบบริการบำบัดโรคเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานบริการสาธารณสุข 2.การบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในระบบ 43 แฟ้ม (Special PP)  และ 3.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถานบริการสุขภาพในการให้คำปรึกษาผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ สำหรับผลการดำเนินงานช่วยผู้เสพให้เลิกสูบ พบว่า จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน มีจำนวน 7.1 ล้านคน หรือ 2ใน3 เป็นผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่   โดยผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่จำนวน 3.9 ล้านคน หรือร้อยละ 54 สามารถเข้าสู่ระบบบำบัดเลิกบุหรี่ได้ และจากฐานข้อมูล Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปีที่ผ่านมา มีผู้สูบบุหรี่จำนวนเพียง 1.4 แสนคน หรือร้อยละ 4.35 เท่านั้น ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ซึ่งแสดงว่าระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ของประเทศไทย ยังคงต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แนวคิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ และมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการควบคุมยาสูบ เพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ (SDGs)  ในอีก 15 ปีข้างหน้า (2559 – 2573) โดยการนำหลักการตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นประเด็นที่สำคัญประการหนึ่งที่ประเทศไทย ต้องดำเนินการ โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมาย The 9 global targets for NCD : 2025  (การลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง) ซึ่งต้องลดอัตราการบริโภคยาสูบลง อย่างน้อยร้อยละ 30 ในปี 2568 จึงนำไปสู่การจัดทำนโยบายที่มีเป้าหมายสูงสุด 3 ประการ ได้แก่ การลดอัตราการบริโภคยาสูบของประชาชน การลดปริมาณการบริโภคยาสูบต่อหัวประชากร และการทำให้สิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

กลุ่มเป้าหมายในการเสวนาครั้งนี้ ประกอบด้วย เครือข่ายวิชาชีพแพทย์และสุขภาพ ในเครือข่ายแพทย์สมาคมฯ และแพทยสภา ได้แก่ อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว วิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ อุรเวชช์ แพทย์โรคหัวใจ แพทย์ประสาทวิทยา ทันตแพทย์ สมาคมพยาบาลฯ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 200 คน ณ ห้อง Crystal Ballroom โรงแรมตะวันนา แขวงสีลม กรุงเทพมหานคร ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

*******************************************************

ข้อมูลจาก : สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค