ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่ 30 ก.ย.65 ที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.06 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับเพียง 1.93 แสนราย อีกทั้ง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดก็ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างทยอยลดการถือสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหนักหรือถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างชัดเจน

โดยแรงขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงกระจุกตัวอยู่ในหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ Tesla -6.8%, Meta -3.7% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้น Apple -4.9% และหุ้นเทคฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ หุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิพฯ หลังบริษัท Apple ได้ยกเลิกแผนการเพิ่มกำลังการผลิต iPhone 14 จากกระแสตอบรับที่แย่กว่าคาด ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงแรงกว่า -2.84% เช่นเดียวกันกับดัชนี S&P500 ที่ดิ่งลง -2.11%

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป กลับมาปรับตัวลงแรงกว่า -1.67% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยุโรป อาทิ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่างออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงบรรดาบริษัทค้าปลีกก็มีการประกาศผลประกอบการที่แย่กว่าคาดและปรับลดคาดการณ์รายได้รวมถึงกำไรลดลง ซึ่งภาพดังกล่าวยิ่งตอกย้ำความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางและความเสี่ยงวิกฤตพลังงานในยุโรป

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง รวมถึงผลของการเข้าไปรักษาเสถียรภาพในตลาดบอนด์ของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว (หรือในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหลังจากแตะระดับ 3.86% สู่ระดับ 3.78% สอดคล้องมุมมองของเราที่คาดว่า ผู้เล่นบางส่วนจะทยอยเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวอาจยังไม่ถึงจุดกลับตัวเป็นขาลงที่ชัดเจน จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด ซึ่งอาจต้องจับตารายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม และรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทว่า เงินดอลลาร์กลับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 111.8 จุด (-1.3%) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) +2.7% สู่ระดับ 1.116 ดอลลาร์ต่อปอนด์ รวมถึงการแข็งค่าของเงินยูโร (EUR) ราว +1.3% สู่ระดับ 0.98 ดอลลาร์ต่อยูโร

อนึ่ง การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +1.0% สู่ระดับ 1,672 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้อาจเริ่มมีแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่า เงินเฟ้อทั่วไป PCE ในเดือนสิงหาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.0% จาก 6.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 4.7% ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในวันนี้เช่นกัน

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดคาดว่า เงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซน ในเดือนกันยายน อาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.7% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารและพลังงานเป็นหลัก ซึ่งระดับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก จะยิ่งหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมเดือนตุลาคม เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ

และในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นชัดเจน เนื่องจากภาคการบริการยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจชะลอลงสู่ระดับ 52.3 จุด อย่างไรก็ดี อานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล อาจช่วยหนุนให้ภาคการผลิตของจีนพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนกันยายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด

ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.90% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินรูปี (INR) ที่อาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อต่อเนื่อง หาก INR อ่อนค่าทะลุระดับ 80 รูปีต่อดอลลาร์ ไปมาก

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังคงมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจถูกชะลอลงได้บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ การปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินหยวนจีน (CNY) หลังทางการจีนส่งสัญญาณพร้อมเข้าดูแลไม่ให้เงินหยวนผันผวนและอ่อนค่ารุนแรงต่อเนื่อง ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ ซึ่งต้องรอลุ้นให้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนไม่ได้แย่ไปกว่าคาดมากด้วย ทำให้เราคงมองแนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 38.20-38.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้

อนึ่งหลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้แนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 37.80-37.90 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.85-38.15 บาท/ดอลลาร์