สอศ.ปฐมนิเทศพัฒนาผู้อำนวยการพันธุ์ใหม่

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้เข้ารับการพัฒนา จำนวน 80 คน เพื่อเป็นการเพิ่มความรู้ ทักษะ เจตคติที่ดี รวมทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพที่เหมาะสมที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและมีความก้าวหน้า ณ ห้องราชพฤกษ์ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา กรุงเทพฯ

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการพัฒนาได้เพิ่มพูนความรู้ วิสัยทัศน์ มีบุคลิกภาพและความเป็นผู้นำที่เหมาะสมต่อการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด และต้องการให้ผู้เข้ารับการพัฒนาสามารถ นำหลักสูตรและการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญไปใช้ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถสร้างวัฒนธรรมคุณภาพ วัฒนธรรมประชาธิปไตยในการปฏิบัติงาน มีความพร้อมในการบริหารสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ตลอดทั้งมีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการบริหารสถานศึกษา

การพัฒนาครั้งนี้ เป็นการดำเนินการครั้งแรกของหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดขึ้นมาใหม่ ซึ่งหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดให้มีการพัฒนาสมรรถนะผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 77 ชั่วโมง โดยมีขอบข่ายเนื้อหา 3 หมวด คือ หมวดที่ 1 คุณลักษณะผู้อำนวยการสถานศึกษาที่พึงประสงค์ จำนวน 15 ชั่วโมง หมวดที่ 2 ภาวะผู้นำทางวิชาการและวิชาชีพ จำนวน 24 ชั่วโมง และหมวดที่ 3 การบริหารและการจัดการในสถานศึกษา จำนวน 31 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมการสัมมนาวิทยากรพี่เลี้ยงและการปฐมนิเทศ และกิจกรรมการพัฒนาสมรรถนะผู้อำนวยการสถานศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมทางวิชาการ ก่อนเข้ารับการพัฒนาจะมีการมอบหมายงานให้ผู้เข้ารับการพัฒนาได้ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อที่ สอศ.ได้จัดทำขึ้น โดยมีเวลาศึกษา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม-14 มิถุนายน 2562

สำหรับการดำเนินการพัฒนาครั้งนี้ จะให้ผู้เข้ารับการอบรมศึกษาข้อมูลของการเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะผู้นำด้านอาชีวศึกษาต้องมีการพัฒนาทักษะ 3 ด้าน คือ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมการสร้างผลผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทักษะด้านชีวิตและอาชีพที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ต้องการกำลังคนที่สามารถ สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาความแปลกใหม่ให้กับผลงานและทักษะด้านสารสนเทศ โดยการเชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกันผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ทั้งนี้ต้องนำทักษะทั้ง 3 ด้าน มาใช้เพื่อตอบโจทย์การเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น ได้ผู้ที่จบอาชีวศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ มีทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในวิชาชีพจริง จนในที่สุดสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ และขอให้ช่วยกันหาวิธีการปรับเปลี่ยนเจตคติของผู้เรียนให้มีความรู้ในอาชีพก่อนที่จะเรียน พยายามสื่อสารหากลยุทธ์ที่จะไปชี้แนะให้ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นได้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงว่าชอบอาชีพใดอยากเรียนเรื่องใด เกิดความมั่นใจในอาชีพเพื่อทำให้เรียนได้ราบรื่น และมีความสุข ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมการเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนสายสามัญกับสายอาชีพตามที่เคยให้นโยบายไว้ในช่วงแรก

ในหลักสูตรนี้ได้กำหนดให้มีวิทยากรพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสม มีความรู้ มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในการบริหารสถานศึกษา ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้แนะให้คำปรึกษาและเติมเต็มประสบการณ์แก่ผู้เข้ารับการพัฒนาทั้งหมด 30 คน ประกอบด้วย อดีตผู้อำนวยการสถานศึกษาที่เกษียณอายุราชการ จำนวน 10 คน ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่ตลอดการพัฒนา และอีก 20 คน เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ยังรับราชการอยู่จะมาปฏิบัติหน้าที่สัปดาห์ละ 10 คน เพื่อเชื่อมโยงภารกิจที่เป็นปัจจุบันให้แก่ผู้เข้ารับการพัฒนา ดร.บุญรักษ์ กล่าวปิดท้าย

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ. / 29 พฤษภาคม 2562