เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุม Mondiacult 2022 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ โดยอนุมัติให้รมว.วธ. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย รับรองร่างปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุม Mondiacult 2022 และหากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างปฏิญญาฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้วธ. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอต่อครม.พิจารณาอีกครั้ง
สำหรับร่างดังกล่าวมาจากการที่องค์การยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลสหรัฐเม็กซิโก จัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (Mondiacult 2022) ณ กรุงเม็กซิโกซิตี้ ซึ่งเป็นการสนทนาในระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายด้านวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลกตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อระบุพื้นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาภาควัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกปรับนโยบายทางวัฒนธรรมเพื่อรับมือความท้าทายร่วมสมัย
โดยมี 4 หัวข้อหลักในการประชุม คือ
1.นโยบายวัฒนธรรมที่ได้รับการปรับปรุงใหม่และมีความเข้มแข็ง
2.วัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
3.แหล่งมรดกและความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤติ
4.อนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกได้แจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของยูเนสโก ครั้งที่ 214 มีมติให้ที่ประชุม Mondiacult 2022 พิจารณารับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีในระหว่างพิธีปิดการประชุมครั้งนี้ด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.จะเข้าร่วมการประชุม Mondiacult 2022 ผ่านระบบการประชุมทางไกล และร่วมกล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “อนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อให้สอดคล้องกับการยกระดับบทบาทของวธ. ในการเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงร่วมพิจารณารับรองปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุม Mondiacult 2022 ด้วย
โดยสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฉบับสุดท้ายฯ ของการประชุม Mondiacult 2022 เป็นการทบทวนและเรียบเรียงขึ้นจากผลการหารือระหว่างประเทศสมาชิกตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การหารือในระดับภูมิภาคไปจนถึงการหารือเกี่ยวกับร่างปฏิญญาฉบับก่อนหน้า ซึ่งประกอบด้วยร่างฉบับแรก (Zero Draft) และร่างฉบับรวมความเห็น (Consolidated Draft) โดยร่างปฏิญญาฉบับสุดท้ายมีสาระสำคัญเกี่ยวกับลำดับความสำคัญต่างๆ ในด้านวัฒนธรรมอันจำเป็นต่อการพัฒนาภาควัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศสมาชิก เพื่อเป็นการรับรองถึงเจตนารมณ์ของการประชุมดังกล่าวในการทบทวนและปรับนโยบายทางวัฒนธรรมเพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมสมัย และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลกตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030