‘พาณิชย์’ ร่วมเวที AFTA Council ครั้งที่ 36 เผย อาเซียนเห็นชอบใช้พิกัดศุลกากรฉบับใหม่ พร้อมเร่งผลักดันการยื่นเอกสารด้านศุลกากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนไทย ร่วมการประชุม AFTA Council ครั้งที่ 36 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา เผย ที่ประชุมเดินหน้าปรับปรุงความตกลง ATIGA ให้ทันสมัย และเร่งรัดการใช้พิกัดศุลกากรฉบับใหม่ พร้อมผลักดันการยื่นเอกสารศุลกากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ชี้ ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ATIGA TNC ครั้งที่ 1 เพื่อยกระดับความตกลงดังกล่าว ปลายเดือนกันยายนนี้

ดร. สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA Council ครั้งที่ 36 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ทั้งในด้านการลดภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น

ดร. สรรเสริญ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ปรับปรุงความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ “ความตกลง ATIGA” ให้ทันสมัย เป็นไปตามรูปแบบการค้าในปัจจุบัน โดยได้เร่งรัดให้สมาชิกอาเซียนนำพิกัดศุลกากรในระบบฮาร์โมไนซ์อาเซียน (ASEAN Hamonized Tariff Nomenclature: AHTN) ฉบับปี 2022 มาใช้แทนฉบับปี 2017 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงพิกัดศุลกากรของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้เริ่มต้นนำพิกัดศุลกากรฉบับปี 2022 มาใช้แล้ว และยังได้ผลักดันให้สมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนเอกสารสำคัญที่ใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากร อาทิ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ใบขนสินค้าขาเข้า และหนังสือรับรองสุขอนามัยพืช ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการผ่านพิธีการศุลกากรให้กับผู้ประกอบการ อีกด้วย

ดร. สรรเสริญ เสริมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนทุกประเทศต่างให้การสนับสนุนและเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาเพื่อยกระดับความตกลง ATIGA ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2553 โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นถึงแนวทางการเจรจายกระดับความตกลง เพื่อมุ่งเน้นให้ ATIGA เป็นความตกลงที่ทันสมัย สอดคล้องกับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันรวมถึงเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและรักษาห่วงโซ่อุปทานภายในภูมิภาค สนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความตกลงมากขึ้น เพื่อให้ ATIGA เป็นความตกลงที่ยืดหยุ่น และเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการค้าในอาเซียน

นอกจากนี้ ที่ประชุมกล่าวขอบคุณที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะเจรจายกระดับความตกลง ATIGA หรือที่เรียกว่า ATIGA TNC ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 29-30 กันยายน 2565 ณ จังหวัดกระบี่ ซึ่งการประชุม ATIGA TNC ครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการหารือแผนงานและทิศทางในการเจรจายกระดับ ATIGA เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีของอาเซียนด้วย ดร. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติม

————————————-
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
27 กันยายน 2565