รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2562 มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย “Next Generation EMS” นำเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงาน องค์ความรู้นวัตกรรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซนทารา ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2562 ในหัวข้อ มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย “Next Generation EMS” โดยมีผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,200 คน เพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ได้ไปพัฒนาคุณภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ทั้งการสร้างองค์ความรู้ การบริหารจัดการ การประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพมาตรฐาน เกิดความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ดูแลช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และได้สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” ให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้รับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤติ ลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน ผลการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 – 28 พฤษภาคม 2562 มีผู้เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ จำนวน 48,531 ราย จากจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด 302,027 ราย
“การประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ มุ่งสู่ยุคใหม่การแพทย์ฉุกเฉินไทย สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนที่เจ็บป่วย ทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยพิบัติ” ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกลกล่าว
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การแพทย์ฉุกเฉินของไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่ก้าวหน้าไปมาก การนำเทคโนโลยีทางไกล การพัฒนากฎหมายให้สอดรับ และการวางแผนบุคลากรระยะยาวในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ โดยในงานนี้ได้มอบเข็มเชิดชูเกียรติประเภทกิตติมศักดิ์ ประเภทสมนาคุณ และประเภทสรรเสริญชั้น 1 แก่ผู้ปฏิบัติการ และหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน เป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งสิ้น จำนวน 960 คน และมีบู๊ทแสดงความก้าวหน้าเครื่องมือในด้านการแพทย์การฉุกเฉินต่าง ๆ เปิดให้ชมอีกด้วย