นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาเส้นทางหลวงในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งภาคอีสาน เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับภูมิภาคสู่ระดับประเทศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาเส้นทางหลวงในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และพบปะกับประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการเรื่องพัฒนาเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าด้านการเกษตร
พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมลงพื้นที่ โดยมี หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ประชาชนชาวอำเภอน้ำพองและอำเภออุบลรัตน์ร่วมให้การต้อนรับ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 23 กันยายน 2565
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศไปสู่ความยั่งยืน สร้างระบบขนส่งคมนาคมเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในภูมิภาคต่าง ๆ กระทรวงฯ จึงได้แปรนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่ง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนพี่น้องประชาชนมีการเดินทางที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) ได้ดำเนินการพัฒนาเส้นทางหลวงในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งไปสู่จังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
1. โครงการพัฒนาหลวงหมายเลข 2039 ตอนน้ำพอง – น้ำอ้อม กม. ที่ 14 + 465 – 18 + 180 ระยะทาง 3.715 กิโลเมตร รองรับปริมาณการจราจร 9,988 คัน/วัน ปริมาณรถบรรทุก 1,833 คัน/วัน การก่อสร้างเสริมผิวทางแอสฟัลท์ มาตรฐานทางชั้น 3 ผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต กว้างช่องละ 7.00 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.50 เมตร เขตทางกว้าง ข้างละ 20.00 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565
ทั้งนี้ ทล.2039 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ซึ่งเป็นเส้นทางสายสำคัญเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ ค่ายเปรมติณสลานนท์ และหมู่บ้านงูจงอาง อีกทั้งยังแหล่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมที่สำคัญ และเป็นเส้นทางไปสู่ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางกับท่าเรือบก (Dry Port) ที่สถานีรถไฟโนนพะยอม
2. โครงการพัฒนาทางหลวงหมายเลข 2183 ตอนน้ำพอง – โคกท่า กม. ที่ 4 + 620 – 4 + 975 และ 6 + 070 – 9 + 380 มีระยะทาง 3.665 กิโลเมตร รองรับปริมาณจราจร 1,897 คัน/วัน ปริมาณรถบรรทุก 191 คัน/วัน การก่อสร้างเสริมผิวทางแอสฟัลท์ มาตรฐานทางชั้น 4 ผิวทางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต กว้างช่องละ 7.00 เมตร ไหล่ทางกว้าง 1.00 เมตร เขตทางกว้างข้างละ 20.00 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ทล.2183 เป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างอำเภอน้ำพองกับอำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ พระธาตุขามแก่น ซึ่งเป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับความต้องการในการเดินทางและการขนส่งสินค้าของประชาชน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทล. จึงได้ดำเนินการขยายทางหลวงแผ่นดินในพื้นที่ชุมชนจากถนน 2 ช่องจราจร เป็นขนาด 4 ช่องจราจร ได้แก่
1. โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2109 ช่วงบ้านคำแก่นคูณ – เขื่อนอุบลรัตน์ ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ปัจจุบันพัฒนาเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรแล้วบางส่วน โดยสายทางดังกล่าวเป็นสายทางเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลางกับอีสานตอนบน จากอำเภออุบลรัตน์ ไปยังจังหวัดหนองบัวลำภู และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ อาทิ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง อุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ และเขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และโรงไฟฟ้าน้ำพอง ตั้งอยู่ในสายทางดังกล่าว
2. โครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 2039 ช่วงอำเภอน้ำพอง – กระนวน ระยะทางประมาณ 31 กิโลเมตร ปัจจุบันพัฒนาเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรแล้วบางส่วน โดยสายทางดังกล่าวเป็นสายทางเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง จากอำเภอน้ำพองและอำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เชื่อมต่อไปยังจังหวัดกาพสินธุ์ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางขนส่งพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงแล้วเสร็จ ไม่เพียงแต่จะเชื่อมต่อเมืองและอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางยังจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและคมนาคมขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่สำคัญ ส่งผลดีต่อการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการบริการของภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนเรื่องการพัฒนาเส้นทางคมนาคมและขนส่งสินค้าด้านการเกษตรในพื้นที่อำเภอน้ำพองและอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น