นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกิจกรรม Kick off ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี “หยุด ก่อนทางม้าลาย” โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมฯ
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนภาคีเครือข่าย “ทางม้าลายปลอดภัย วินัยดี” หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร
นายวิรัช พิมพะนิตย์ กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2561 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ซึ่งข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกของกรมการขนส่งทางบก พบว่าในปีงบประมาณ 2564 มีรถที่เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 169,428 คัน โดยมีผู้เสียชีวิต 6,024 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 58,885 ราย รถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 33,350 คัน
กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด สำหรับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความผิดพลาดของบุคคลมากที่สุดถึง 54,794 ครั้ง รองลงมาเกิดจากสัญญาณไฟและป้ายบอกทาง 23,625 ครั้ง ซึ่งสาเหตุทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันบูรณาการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ได้ใช้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal : SDG) ซึ่งความปลอดภัยทางถนนถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแนวทางการพัฒนาที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ในเป้าหมายที่ 3.6 สหประชาชาติได้ตั้งเป้าการลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ เนื่องจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางบกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 จากแนวคิด SDG นี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เริ่มรณรงค์ “ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน” เมื่อปี 2558 และได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จในปี 2573 โดยเน้นขับเคลื่อน 5 เสาหลัก ดังนี้
1. ด้านบริหารจัดการ เป้าหมายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบขนส่งระหว่างเมืองเพื่อรองรับการเดินทางของคน คือ การพัฒนารถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่มีความสะดวกสบายเดินทางได้รวดเร็ว ราคาเหมาะสม และมีความปลอดภัยสูง เพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้แทนการเดินทางทางถนน ซึ่งจะทำให้จำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนลดจำนวนลง สำหรับการขนส่งสินค้า
กระทรวงคมนาคมได้วางภาพเป้าหมายการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ คือ การใช้รถบรรทุกในการขนส่งจากต้นทาง เฉพาะระยะสั้น เพื่อเข้าสู่ศูนย์รวบรวมสินค้าทางราง เช่น ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้า หลังจากนั้นทำการขนส่งสินค้าต่อโดยรถไฟในระยะทางไกลไปสู่เกทเวย์ของประเทศ เช่น ท่าเรือหรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า และจะกระจายไปยังตลาดหรือร้านค้าปลายทาง โดยใช้รถบรรทุกเล็กในระยะสั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ปริมาณรถบรรทุกใหญ่บนถนนทางหลวงน้อยลง นำมาซึ่งการลดจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต
2. ด้านโครงสร้างถนนและสภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ได้ปรับปรุงกายภาพของถนนทางหลวงและท้องถิ่นให้มีมาตรฐาน iRAP Star Rating สามดาวเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งมีมาตรการจัดการปัญหา “ความเร็ว” ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในเขตเมืองและชุมชน ปรับปรุงจุดเสี่ยง เช่น ทางแยก ทางเชื่อม ทางโค้ง ให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
หนึ่งในโครงการเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนที่ริเริ่มในปัจจุบันคือการติดตั้งคอนกรีตแบริเออร์บนถนนที่ใช้เกาะสีเป็นตัวแบ่งทิศทางจราจร โดยหุ้มแท่งคอนกรีตด้วยยางพารา (Rubber Fender Barrier : RFB) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทดสอบในห้องปฏิบัติการในประเทศเกาหลีพบว่า การหุ้มแท่งคอนกรีตด้วยยางพาราสามารถลดแรงกระแทกจากการเฉี่ยวชนและลดการสูญเสียชีวิตได้
3. ด้านยานพาหนะ กระทรวงคมนาคมได้ใช้ พ.ร.บ. กำหนดมาตรฐานรถทุกประเภทที่มีอยู่บนถนนในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และการใช้งาน โดยมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางบนถนนให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การออกประกาศให้ใช้เบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ โดยจะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในปี 2567 กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกคัน และรถบรรทุกขนส่งสินค้าต้องติดตั้งระบบ GPS
4. ด้านผู้ใช้รถใช้ถนน เพิ่มมาตรการและติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น การเพิ่มระบบตรวจจับความเร็วด้วยกล้อง CCTV เพื่อควบคุมและกำกับตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถให้เป็นไปตามกฎหมายวินัยจราจร การใช้ระบบตัดแต้มใบขับขี่และการอบรมเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัยบริเวณทางข้ามถนน และการติดตั้งจุดตรวจ เพื่อกำกับติดตามพฤติกรรมคนขับรถสาธารณะให้เกิดความปลอดภัย
5. ด้านมาตรการช่วยเหลือหลังเกิดเหตุ กระทรวงคมนาคมมีช่องทางประสานแจ้งหน่วยกู้ภัยเพื่อรับผู้ประสบอุบัติเหตุไปรักษาได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรการทำการสืบสวนอุบัติเหตุ และเสนอแนวทางปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว
ทั้งนี้ การจัดการความปลอดภัยทางถนนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันสร้างระบบแห่งความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายใต้ทิศทางนโยบายของแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 5 และทศวรรษที่สองแห่งความปลอดภัยทางถนนของสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยต้องลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 โดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการผลักดัน ขับเคลื่อนอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและเกิดความปลอดภัยในการเดินทางอย่างยั่งยืน