นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในช่วงนี้สภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รฟม. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จึงได้กำชับให้บริษัทที่ปรึกษาและผู้รับจ้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 4 สายทาง ที่อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง ได้แก่ 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง 4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เตรียมเฝ้าระวังและดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ประชาชนตลอดช่วงฤดูฝน
สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน มีดังนี้ 1. เตรียมเครื่องสูบน้ำ เพื่อสนับสนุนสำนักงานเขตและสถานีตำรวจในพื้นที่ในการระบายน้ำที่ท่วมขัง 2. ตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำ ลำราง และคูคลองต่างๆ ตลอดแนวก่อสร้างโครงการฯ หากพบว่ามีการอุดตัน มีดินทรายทับถม หรือมีวัสดุกีดขวาง ต้องดำเนินการขุดลอกโดยทันที 3. จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร พร้อมจัดหาผ้าใบปกคลุม เพื่อป้องกันเศษดินทรายตกหล่นและไหลลงสู่ทางระบายน้ำ 4. นำรถดูดฝุ่นปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เศษดินหรือฝุ่นละอองตกหล่นไหลลงท่อกีดขวางการระบายน้ำ 5. จัดหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนเมื่อเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าและช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสีย
โดยที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 สายทาง ได้ดำเนินการตามมาตรการแล้วอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเตรียมการส่งมอบโครงการฯ ให้แก่กรุงเทพมหานคร โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้ร่วมกับ กทม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างมาโดยตลอด โดยให้ผู้รับจ้างก่อสร้างบ่อพักเสริมและเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำทดแทนท่อระบายน้ำเดิมที่ได้รื้อย้ายในระหว่างการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี และเชื่อมท่อระบายน้ำใหม่เพิ่มเติม รวมถึงดำเนินการมาตรการป้องกันระดับพื้นราบ ได้แก่ การจัดรถดูดฝุ่นบนถนนตามแนวสายทาง การจัดพนักงานเก็บกวาดพื้นที่ก่อสร้างและจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อป้องกันเศษวัสดุกีดขวางทางระบายน้ำ นอกจากนี้ โครงการฯ ได้ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำตลอดแนวสายทางโครงการฯ ในแนวถนนพหลโยธินมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯ ซึ่งในปีนี้จะดำเนินการลอกท่อระบายน้ำเพิ่มเติมระยะทางทั้งหมด 22,780 เมตร จำนวนบ่อพัก 1,520 บ่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีรามคำแหง ด้านหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และลำรางสาธารณะบริเวณสถานีคลองบ้านม้า เพื่อป้องกันเศษวัสดุอุดตันในแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดีมากยิ่งขึ้น พร้อมเฝ้าระวังจุดเสี่ยงตลอดแนวถนนรามคำแหง โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยฉุกเฉินกรณีน้ำท่วมขัง เพื่อระบายน้ำฝนสู่คลองแสนแสบ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ก่อสร้างและปากท่อระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เศษดินหรือขยะเข้าไปอุดตันทางระบายน้ำ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในจุดวิกฤตบนถนนลาดพร้าว ตั้งแต่ซอยลาดพร้าว 98 ถึงซอยลาดพร้าว 90 ฝั่งขาเข้าบริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขัง และตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รฟม. ได้เน้นย้ำให้ที่ปรึกษาโครงการ กำกับดูแลให้ผู้รับจ้างงานโยธาทุกโครงการ ลอกท่อระบายน้ำตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า อย่างต่อเนื่องทุกๆ 3 เดือน และคอยเฝ้าระวังสถานการณ์และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ตามนโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในการให้ความสำคัญแก่ประชาชนและชุมชนตามแนวสายทางโครงการรถไฟฟ้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชมและสังคมเป็นสำคัญ เพื่อส่งมอบความสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044