กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นรายที่สองของปีนี้ แนะประชาชนให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ลดความเสี่ยงการรับเชื้อ เตือนหากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม อย่าชะล่าใจ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2562 ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นเด็กหญิง อายุ 10 ปี 6 เดือน ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นผู้เสียชีวิตรายที่สองของปี 2562 นี้ (รายแรกที่จังหวัดสุรินทร์) จากการสอบสวนโรคพบว่าเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีประวัติเล่นกับสุนัขจรจัดและถูกข่วน แต่ไม่ได้ล้างแผลไม่ได้ฉีดวัคซีน หลังจากนั้น 2 เดือน มีอาการไข้ ปวดศีรษะ กระวนกระวาย กลัวน้ำกลัวลมถ่มน้ำลายตลอดเวลาและเสียชีวิตในที่สุด
จากข้อมูลในช่วงปิดเทอมพบว่าสถิติการถูกสัตว์กัดข่วนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเด็กๆ ปิดเทอมอยู่บ้านมักเล่นกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้านหรือในชุมชน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือหลังจากถูกสัตว์กัดหรือข่วนแล้ว หลายรายกลัวจะถูกดุ จึงไม่ยอมบอกพ่อแม่ผู้ปกครองทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เนื่องจากโรคนี้มีระยะฟักตัวตั้งแต่รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรือนานถึง 1 ปี และในหลายพื้นที่ก็ยังพบสุนัขบ้า ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลบุตรหลานให้อยู่ห่างจากสุนัขและแมว สังเกตอาการและหมั่นสอบถามพูดคุยอย่างใกล้ชิด หากพบว่าเคยถูกสัตว์กัดหรือข่วนแล้ว ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ถ้าตายควรส่งให้ปศุสัตว์ตรวจหาเชื้อด้วย
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ 1. อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 2. อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 3. อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5. อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และขอให้นำสุนัข แมว ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้บริการถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422