นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พร้อมด้วย ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. นางสาววรรณสิริ รงรองเมือง ผู้จัดการโครงการพัฒนา สุขภาวะทางปัญญาผู้นำจิตอาสา ด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนางสาวดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือ สายด่วน 1300 ร่วมแถลงข่าว เปิดตัวหนังสือ “จิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำดีประเทศไทย ปี 2562” เพื่อให้เป็นหนึ่งในกลไกเชื่อมโยงการทำงานอาสา ขยายต่อการทำความดีในวงกว้าง สร้างวิถีสุขภาวะทางปัญญาจากการให้และแบ่งปัน ณ บริเวณโถงชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ วันที่ 28 พฤษภาคม 2562
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตภาวะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงที่มาของการสนับสนุนการจัดทำ หนังสือจิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำดีประเทศไทย 2562 ว่า สสส.มียุทธศาสตร์การทำงานที่ครอบคลุมสุขภาวะทั้ง 4 ด้าน คือ กาย ใจ สังคม ปัญญา ซึ่ง สสส.ได้ตระหนักถึงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาเป็น มิติสำคัญของการพัฒนาสุขภาวะองค์รวม โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงวิถีสุขภาวะทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสร้างความพร้อมทางปัจจัยแวดล้อม การสนับสนุนกลไกและพื้นที่ การเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสุขภาวะทางปัญญา “กิจกรรมจิตอาสา” เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างและพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผ่านการมีประสบการณ์ตรงในหลากหลายรูปแบบ ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยมีความสนใจเรื่องจิตอาสาในจำนวนที่มากขึ้น แต่ยังขาดข้อมูลในการเข้าถึงพื้นที่การทำงานจิตอาสา ทั้งนี้สสส. จึงได้สนับสนุนการจัดทำหนังสือ “จิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำดีประเทศไทย 2562” ซึ่งเป็นการรวบรวมพื้นที่ปฏิบัติการจิตอาสาไว้ในหนังสือดังกล่าว เพื่อเป็นช่องทางที่จะเชื่อมโยงคนให้เข้าถึงงานจิตอาสาในวงกว้างมากขึ้นและจะส่งผลต่อเนื่องถึงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาและสุขภาวะทางสังคมที่ดีต่อไปในอนาคต
นางสาววรรณสิริ รงรองเมือง ผู้จัดการโครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผู้นำจิตอาสา ด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวต่อว่า การแบ่งปันและงานอาสาช่วยเหลือในสังคมไทยปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ยังไม่สามารถส่งผลให้เกิดความต่อเนื่องไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีจิตอาสาอยากจะเป็นผู้ให้ แต่ยังไม่รู้ว่ามีกิจกรรมและช่องทางใดบ้างในการทำงานจิตอาสา หนังสือเล่มนี้จึงได้รวบรวมสถานที่ที่เปิดรับจิตอาสาทั่วประเทศไทย โดยแบ่งเป็นภาค จังหวัด มีข้อมูลที่อยู่ขององค์กรหรือสถานที่ในการทำจิตอาสา รวมถึงประเภทของงานจิตอาสาที่แต่ละองค์กรเปิดรับทั่วประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้สังคมหันมาให้ความสนใจในงานจิตอาสามากยิ่งขึ้น และช่วยให้การทำงานจิตอาสาขยายผลงอกงามอย่างยั่งยืนทั่วประเทศไทยต่อไป
โอกาสนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับมอบหนังสือ จิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำดีประเทศไทย ปี 2562 จำนวน 1,000 เล่ม จากโครงการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาผู้นำจิตอาสา ด้วยศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนา
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวต่ออีกว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนโยบายในการพัฒนาคน พัฒนางาน และเสริมสร้างสวัสดิการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิต ที่ดี “หนังสือจิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำดีประเทศไทย ปี 2562 จำนวน 1,000 เล่ม ที่ได้รับมอบในวันนี้ จะกระจายไปยังศูนย์ประสานงานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ประสานงาน อพม.เป็นกลไกหลักสำคัญในการทำงานอาสาสมัครเชิงพื้นที่ ทั้งการเฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ รวมทั้งการประสานงานบรรเทาความเดือนร้อนต่างๆ ภายในชุมชน นอกจากนี้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ อพม. ดีเด่น เพื่อเป็นผู้นำจิตอาสา ทำงานผลักดันและขยายเครือข่าย อพม. ในพื้นที่ให้เข้มแข็ง และเชื่อมั่นว่า หนังสือ จิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำดีประเทศไทย จะเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญที่ อพม. จะนำมาใช้สื่อสารและสร้างเครือข่ายการทำความดีให้แผ่กิ่งก้านเป็นสังคมจิตอาสาที่มั่นคงและยั่งยืน โดยในอนาคตรูปแบบการทำงานของอาสาสมัครในประเทศไทยจะมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) อาสาสมัครโดยสมัครใจไม่หวังผลตอบแทน 2) ธนาคารความดี และ 3) ธนาคารเวลา เพื่อเป็นการสนับสนุนให้สังคมเกิดทั้งผู้ให้และผู้รับ
นางสาวดรุณี มนัสวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือ สายด่วน 1300 กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ของกระทรวง พม. เป็นหน่วยงานให้บริการผู้ประสบปัญหาสังคม ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อมีการรับแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือ จะมีการประสานไปยังเครือข่าย อพม. ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ติดตาม และเฝ้าระวังในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การได้รับข้อมูลจากโครงการฯ จัดทำหนังสือ จิตอาสาที่ยั่งยืน แผนที่ทำความดี ที่รวบรวมสถานที่ในการทำความดี งานบริการ จิตอาสาทั่วไทย ที่ครอบคลุมทุกประเด็นงานอาสาสมัคร เป็นข้อมูลสำคัญที่สายด่วน 1300 สามารถบอกต่อให้กับประชาชนที่สนใจทำงานจิตอาสาหรือผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อไปยังหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่มีข้อมูลอยู่ภายในหนังสือเล่มดังกล่าว