กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอาเซียนหารือจีนในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน หวังปรับปรุงความตกลงฯ ให้ทันสมัยและครอบคลุม อาทิ การลดหรือยกเลิกภาษีเพิ่มเติม การปรับปรุงด้านการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมตั้งเป้าบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาการพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ASEAN – China FTA Joint Committee: ACFTA – JC) ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 20 – 22 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ว่า ที่ประชุมได้หารือประเด็นสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุง ACFTA ให้มีความทันสมัยและครอบคลุม ทั้งการลดหรือยกเลิกภาษีเพิ่มเติมในสินค้าที่สมาชิกยังไม่มีการเปิดตลาด การปรับปรุงบทการลงทุนให้มีมาตรฐานสูงขึ้น รวมทั้งการพิจารณาความร่วมมือในประเด็นอื่นๆ ที่มีความสำคัญกับการค้าในยุคปัจจุบันซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งอาเซียนและจีน อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการขจัดข้อกีดกันทางการค้าที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs)
นายรณรงค์ กล่าวว่า ประเด็นทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการอำนวยความสะดวกและลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้า ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้การค้าในภูมิภาคเติบโตขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่หลายประเทศยังคงใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและนโยบายปกป้องทางการค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องให้กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ (Revised PSR) ภายใต้ความตกลง ACFTA เริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 สิงหาคมปีนี้ ในส่วนของความร่วมมือในแขนงต่างๆ จีนอยู่ระหว่างเร่งพิจารณาโครงการที่ประเทศสมาชิกเสนอเพื่อขอรับการช่วยเหลือ อาทิ โครงการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับ Revised PSR และการเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และจีนได้แสดงความพร้อมให้ความช่วยเหลืออาเซียนผ่านทั้งกองทุน ASEAN – China Cooperation Fund (ACCF) และ ASEAN – China FTA Grant โดยจีนได้กระตุ้นให้อาเซียนเสนอโครงการความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อขอรับทุนดังกล่าว
นอกจากนี้ นายรณรงค์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จีนได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการค้ายุคใหม่ โดยภายในการประชุม ผู้แทนจากบริษัทอาลีบาบาได้นำเสนอเรื่อง Electronic World Trade Platform (eWTP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงตลาดทั่วโลก โดยปัจจุบัน อาลีบาบาได้ดำเนินความร่วมมือด้าน eWTP กับสมาชิกอาเซียนแล้ว 2 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซียและไทย โดยอาลีบาบาได้จัดทำ MOU กับไทยในด้านการพัฒนา Intelligence Digital Logistics Hub การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ตลอดจนด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีการส่งออกไปตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์มของอาลีบาบาเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เช่น ผลไม้ไทย ข้าว กล้วยไม้ เครื่องสำอาง และหมอนยางพารา ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงประสิทธิภาพของการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าสู่ตลาดจีน นอกจากนี้ อาลีบาบายังเสนอแนะให้อาเซียนยกระดับความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ปรับปรุงบริการภาครัฐให้มีความทันสมัย สร้างเครือข่ายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs เพื่อแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยี เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ผลักดันให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ตลอดจนสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนให้กับธุรกิจดิจิทัลของจีนและร่วมมือกับจีนในด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบเชิงลึกยิ่งขึ้น
ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นเวลากว่า 17 ปี โดยในปี 2561 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน การค้าอาเซียน-จีนมีมูลค่ารวมถึง 589,748 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 14.72 ในส่วนของผู้ประกอบการไทยได้ขอใช้สิทธิจาก FTA ดังกล่าวเพื่อส่งออกเป็นมูลค่า 17,633.94 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิร้อยละ 88.6 ของมูลค่าส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA และการใช้สิทธินำเข้าภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน-จีน มีมูลค่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกรอบความตกลง คือ 13,383.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอน ทำให้อาเซียนเล็งเห็นความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่าน ACFTA เพื่อให้อาเซียนและจีนสามารถบรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563